เคล็ดลับการทำข่าวสืบสวน ฉบับ 'Nils Hanson' โปรดิวเซอร์ใหญ่ทีวีสวีเดน
"...การเป็นนักข่าวประเภทนี้ไม่ยากเลย “หากมี มีเวลา มีไอเดียดีๆ สามารถทำงานยากๆ ได้ รวมทั้งสามารถหนีจากงานประจำได้ การเป็นนักข่าวสืบสวนต้องพยายามคิดต่างจากคนอื่น รวมทั้งพยายามคิดสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่การจะทำทุกเรื่องในข่าวประเภทนี้ต้องไปให้ถึงรากของเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะถือเป็นการประสบความสำเร็จที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้” .."
วันแรกที่เข้าร่วมอบรมการทำข่าวสืบสวน Investigative TV Journalists Training กับบรรณาธิการข่าวเจาะ 'Nils Hanson' โปรดิวเซอร์ใหญ่ประจำรายการ Uppdrag Granskning (Mission Investigate) ของ Public Service Television ของสวีเดนที่มาให้ความรู้ในการอบรม Investigative Journalist for TV ที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยร่วมจัดกับหลายองค์กรแล้วต้องบอกว่า “เหนื่อยเอาการ”
มีหลายอย่างที่เรียนรู้เพียง 3 วัน ไม่หมด และไม่รู้ว่าถ้าเปิดคอร์สอีก10 วันจะเรียนรู้หมดหรือเปล่า
แต่เคล็ดลับเหล่านี้อยากนำมาแชร์ให้พี่น้องนักข่าวได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
“เพราะข่าวสืบสวน จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง” คุณนิลส์ กล่าว
ไม่รู้ว่า ในเมืองไทยมีตำราวารสารศาสตร์ด้านการสืบสวนมากน้อยแค่ไหน แต่คุณนิลส์เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มากว่า 25 ปี และเป็นนักข่าว/บรรณาธิการรายการสืบสวนทางทีวีมากว่า 10 ปี
สิ่งที่เขาถ่ายทอดนี้จึงอาจไม่มีในตำรา
เขาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีนักข่าวสืบสวนและทำไมคนถึงอยากเป็นนักข่าวสืบสวน
เพราะเป็นเรื่อง “ยาก”
ดังนั้น นักข่าวควรถามตัวเองก่อนว่า อยากทำงานนี้ไหม
สิ่งหนึ่งที่ได้จากการเป็นนักข่าวสืบสวน คือ ได้เป็นพระเอกหรือ Hero รวมทั้งเป็นที่ชื่นชมของกอง บก. เพราะนักข่าวประเภทนี้มักจะได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย และแน่นอนย่อมมีคนไม่ชอบตามมาด้วย
คุณนิลส์ ถ่ายทอดทั้งความเป็นนักข่าวและนักบริหารว่า ก่อนอื่นเราต้องนิยามของนักข่าวสืบสวนหรือที่เขาเรียกว่า “นักขุด” เรื่องเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นหลักการทำข่าวทั่วไปที่มีอยู่ในตำราวารสารศาสตร์ นั่นคือ เรื่องราวที่หยิบมาทำต้องเป็นเรื่องใหม่ มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่คนสนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่สำคัญสำหรับเขา คือ “การทำข่าวเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโลก” อันนี้เป็นสิ่งที่เขาจัดให้เป็น Solution ของการทำข่าวก็ว่าได้
การทำข่าวประเภทนี้จะทำให้องค์กรข่าวได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสูง ผู้ชมประทับใจ แน่นอนมักจะสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กร เพราะจะมีรางวัลตามมาเป็นกะตั๊ก ซึ่งก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงตามมาด้วย
แน่นอนเขาบอกว่า “งานข่าวประเภทนี้เป็นงานยาก แต่ก็คุ้มค่าสำหรับการทำ”
การเป็นนักข่าวประเภทนี้ไม่ยากเลย “หากมี มีเวลา มีไอเดียดีๆ สามารถทำงานยากๆ ได้ รวมทั้งสามารถหนีจากงานประจำได้ การเป็นนักข่าวสืบสวนต้องพยายามคิดต่างจากคนอื่น รวมทั้งพยายามคิดสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่การจะทำทุกเรื่องในข่าวประเภทนี้ต้องไปให้ถึงรากของเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะถือเป็นการประสบความสำเร็จที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้”
สิ่งจำเป็นของนักข่าวประเภทนี้มากที่สุด คือ การสืบค้นข้อมูลให้ได้มากที่สุด โดยต้องใช้เวลาให้มีค่ามากที่สุดในการหาข้อมูล ถ้าเพื่อนนักข่าวโทรเช็คข้อมูล 2 รอบ แต่นักข่าวสืบสวนฯ ต้องเช็คข้อมูล 10 รอบ เป็นต้น
รวมทั้งใช้วิธีจดทุกอย่างและพยายามกระโดดลงไปในข้อมูลให้เบื้องลึกที่สุด เช่น การทำข่าวเรื่องการฆาตกรรมพยายามคิดตั้งคำถามว่า เหยื่อบอกเรื่องจริงกับเราหรือเปล่า ต้องเช็คข้อมูลให้รอบคอบด้วยการ cross check สิ่งที่สำคัญอย่าคล้อยตามเหยื่อหรือแหล่งข่าว
เพราะทัศนคติถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานข่าวแบบนี้
นอกจากนี้เขายังเห็นอีกว่า การทำข่าวสืบสวน ไม่ควรมองว่า เป็นเรื่องคอร์รัปชันเสมอไป แต่เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นข่าวเชิงลึก แม้กระทั่งการรวบรวมสถิติการข่มขู่ทางอินเตอร์เนตก็สามารถทำให้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจได้
“ถ้าเป็นการทำข่าวเพื่อหาทางออกเรื่องนั้นก็เป็นข่าวสืบสวนได้ ยิ่งถ้ามีประเด็นปัญหามากเท่าใดก็ยิ่งมีเรื่องให้นักข่าวหาประเด็นมาทำได้มากแค่นั้น แต่ต้องทำให้ลึกกว่าคนอื่นทำ”โปรดิวเซอร์รายการสืบสวนสอบสวนแห่งทีวีสวีเดน กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://gijn.org/2016/03/02/gijn-boosts-broadcast-journalists-in-thailand/