นิคมฯ มาบตาพุดย้ำรง.ปล่อยน้ำทิ้งได้มาตรฐาน - นักวิชาการจี้หาสาเหตุปลาตาย 2 ตัน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ องค์กรประมงท้องถิ่นบ้านปากน้ำ สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล วิสาหกิจชุมชนปากน้ำ เดินทางเข้าพบนายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุกรณีปลาตายหมู่ 2,000 กิโลกรัมในบริเวณหาดตากวน-อ่าวประดู่ ระหว่างวันที่ 13-16 มีนาคม 2559 ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับน้ำทิ้งจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรือไม่
นายละม่อม บุญยงค์ ประธานองค์กรประมงท้องถิ่นบ้านปากน้ำ กล่าวว่า ตลอดชีวิต 60 กว่าปี ไม่เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่เคยมีปลาตายจำนวนมากขนาดนี้ ปลาที่ตายในครั้งนี้เป็นปลาที่ตายยาก ทั้งปลาสลิดหินและปลาสิงโต พวกเราชาวประมงเคลือบแคลงใจ เพราะอะไรปลาถึงตายในอ่าวตากวนที่เดียว ซึ่งเป็นอ่าวที่รับน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก ถ้าเกิดจากธรรมชาติจริง ปลาต้องตายตลอดทั้งแนวชายฝั่ง จึงอยากทราบสาเหตุเพื่อป้องกันความเสียหายอีกในอนาคต
ส่วนนายสำออย รัตนวิจิตร นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวถึงปลาที่อยู่ในทะเลคือรายได้ของชาวประมง สิ่งที่ตายไปมันยากที่จะชดเชย เราจะนำปลากลับคืนมาไม่ได้ถ้าไม่มีการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพอุตสาหกรรม และต่อไปอาชีพประมงในจังหวัดระยองคงไม่ยั่งยืนแน่ สิ่งที่เราต้องการ คือ อุตสาหกรรมจับมือกับชาวประมงแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงแนวทางการรับมือปัญหาของหน่วยงานรัฐในครั้งนี้ ซึ่งปลาตายหมู่ในปริมาณมากขนาดนี้ ในพื้นที่ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลกลับเงียบเฉยผิดปกติ แม้ปลาที่ตายไป 2,000 กิโลกรัมจะถูกฝังกลบอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหานี้จะไม่มีจุดจบตราบใดที่รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ เช่น รายชื่อโรงงานที่การระบายน้ำทิ้งลงสู่คลองชากหมากและหาดตากวน-อ่าวประดู่ สภาพการปนเปื้อนของตะกอนทะเลในหาดตากวน-อ่าวประดู่จากมลพิษที่สะสมมายาวนานกว่า 30 ปี และปริมาณสารมลพิษที่โรงงานปลดปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แม้จะไม่เกินมาตรฐานตามกฎหมาย ก็ควรรายงานให้ประชาชนรับรู้ในรายละเอียดเพื่อความน่าเชื่อถือ”
ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมถึงปรากฏการณ์ปลาตายหมู่ครั้งนี้เป็นแค่ปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหามลพิษที่มาบตาพุด ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ปรากฏการณ์ปลาตายหมู่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดอย่างต่อเนื่องตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย และยังมีประชาชนร้องเรียนถึงความผิดปกติทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่มาบตาพุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนหาแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ใช่พูดแค่ว่าเกิดจากแพลงก์ตอน แต่ต้องหาสาเหตุว่า สิ่งที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมมีอะไรบ้างและสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมหรือไม่ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหาแหล่งกำเนิดมลพิษ มิฉะนั้น ข้อมูลของรัฐจะไม่ได้รับการเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าเหตุการณ์ปลาตายที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ มาบตาพุดปล่อยน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาสาเหตุของปลาตายแล้วพบว่า ปลาขาดออกซิเจนที่ชายฝั่ง เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มีการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม แต่เราเคารพสิทธิของทุกท่าน เราเองก็มีพื้นที่ใกล้เคียงคือคลองชากหมากที่มีการระบายน้ำลงอ่าว ซึ่งปัจจุบันเรามีการตรวจวัดคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง แต่เราก็จะเพิ่มความเข้มข้นเรื่องมาตรการการตรวจสอบและตรวจวัด” นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ก่อนเดินทางกลับ เครือข่ายภาคประชาชนขอให้สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดพัฒนามาตรการเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรประมงชายฝั่งเช่นนี้อีกในอนาคต และวอนให้รัฐแก้ไขปัญหามลพิษสะสมในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงมายาวนานกว่า 30 ปี
นอกจากนี้ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านยังได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานและขอให้ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ปลาตายหมู่ ได้แก่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานประมงจังหวัด กรมทรัพยากรชายฝั่งและทะเล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้กำกับดูแลแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามคำสั่งศาลปกครองระยองตั้งแต่ปี 2552
ที่มาภาพ:โดย องค์กรประมงท้องถิ่นบ้านปากน้ำ