นักวิชาการ มธ.ชี้อนาคตท้องถิ่นไทยร่างรธน.ใหม่ ‘ขาลอย- เงียบสงัด- ไร้แรงส่ง’
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. แนะเพิ่มอำนาจทางการเงินการคลังให้ท้องถิ่น แบบกทม.เปิดให้เอกชนลงทุนระบบคมนาคมขนส่ง มี BTS ย้ำชัดนอกจากเป็นการให้บริการสาธารณะแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของท้องถิ่น
วันที่ 17 มีนาคม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีอนาคตท้องถิ่นไทยที่ไกลกว่ารัฐธรรมนูญ ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวถึงการพัฒนาประเทศปัจจุบัน หากมองในเชิงการใช้ทรัพยากรอาจกล่าวได้ว่า เป็นการใช้ทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันการกระจายอำนาจช่วงที่ผ่านมา ก็เห็นความเป็นเมืองที่ท้องถิ่นต่างๆ ดูแลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทิศทางประเทศหนีไม่พ้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ การขยายตัวของเมือง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมสีเขียว นี่คือแผนพัฒนาประเทศที่วางแผนไว้ในแผนชาติฉบับที่ 12
สำหรับความท้าทายใหม่ๆ จากนอกประเทศ และในประเทศ ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวว่า ล้วนแล้วแต่เป็นบริบทความรับผิดชอบของท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น หากเรามองข้ามเรื่องรัฐธรรมนูญ มองข้ามกฎระเบียบ มองถึงสิ่งที่ท้องถิ่นต้องทำจริงๆ คำถามใหญ่ คือ ทำให้ท้องถิ่นรองรับภารกิจใหม่ๆ ได้
แนะเปิดช่องท้องถิ่นหารายได้ใหม่
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบภารกิจสาธารณะอย่างเต็มตัว มีอิสระ คิดเองทำเอง และรับผิดรับชอบกับผลนั้นจริงๆ ซึ่งท้องถิ่นไม่สามารถทำหน้าที่ของใครของมันได้อีกต่อไป ต้องมีความร่วมไม้ร่วมมือทำงานกัน เช่น เรื่องน้ำเสีย อากาศเสีย เป็นต้น ฉะนั้นเป้าหมายการทำหน้าที่ท้องถิ่นในอนาคตทำอย่างแยกส่วนไม่ได้ ไม่ควรมองเรื่องพื้นที่ เขตปกครอง แต่ให้มองของภารกิจเป็นตัวตั้ง
"หาดใหญ่ เชียงใหม่ เริ่มเปิดให้เอกชนที่สนใจลงทุนระบบคมนาคมขนส่งแทน เหมือนกทม.มี BTS คำถาม คือ ทำไมท้องถิ่นอื่นๆ ถึงทำแบบกทม.ไม่ได้ นี่คือตัวอย่างของการทำงานที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมรับผิดชอบแทน แต่ผลดี ผลเสียท้องถิ่นต้องรับโดยตรง นอกจากเป็นการให้บริการสาธารณะแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของท้องถิ่นอีกทางด้วย"
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญ ทุกคนรู้ดี รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 พยายามส่งเสริม เรื่องการกระจายอำนาจ ความเป็นอิสระของท้องถิ่น แต่การทำหน้าที่ใหม่ๆ ของท้องถิ่น วันนี้ต้องการความชัดจน รูปแบบการทำงานใหม่ๆ กับการบริการสาธารณะ
"เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ผมเห็นว่า ทำให้ท้องถิ่นของเรา "ขาลอย เนื้อหาไม่บอกว่า ลักษณะการทำงานของท้องถิ่นในอนาคตประเด็นอะไรบ้างต้องการการแก้ไข ประเด็นอะไรบ้างต้องการการปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา" ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว และว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราต้องการความชัดเจนมากกว่าการบอกให้ไปดูที่กฎหมายลูก ซึ่งก็ไม่รู้ใครจะรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งประวัติศาสตร์ในอดีตการรอกฎหมายลูกโดยไม่ได้บังคับว่าต้องเสร็จเมื่อไหร่ ทำให้การกระจายอำนาจไม่สำเร็จ
ส่วนเรื่องความเป็นอิสระของท้องถิ่น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า จะเกิดขึ้นได้ท้องถิ่นต้องมีเงินของตนเอง เรื่องการเพิ่มอำนาจทางการเงินการคลังท้องถิ่นจำเป็น หลังล่าช้ามานาน ซึ่งโครงสร้างรายได้ท้องถิ่น คือโครงสร้างที่ออกแบบไว้เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ทำอย่างไรเพิ่มรายได้ใหม่ๆ ให้ท้องถิ่น ภาษีสิ่งปลูกสร้างฯ ภาษีบำรุงท้องที่
"สังคมไทยไม่ค่อยพูดถึงการออกแบบให้ได้มาของรายได้ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีกับผู้บริหารท้องถิ่น ประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้วอาศัยกลไกนี้กระตุ้นสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน"
ขณะที่รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวถึงเรื่องท้องถิ่น หรือกระแสการกระจายอำนาจในปัจจุบัน สื่อไม่ได้สนใจ หรือแม้แต่คนในสังคมก็สนใจน้อยมาก เรียกว่า ไม่อินเทรนด์ หลงยุค เป็นกระแสที่ไม่มีแรงส่งใดๆ ทั้งสิ้่น
"มองให้ไกลกว่ารัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นรูปธรรม การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นได้ ต้องการนโยบายรัฐที่ชัดเจน แต่น้ำหนักรัฐบาลไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่า" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า วันนี้ไม่เห็นสัญญาณการปฏิรูปการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง หรือแม้แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ส่งสัญญาณอะไรชัดเจนมากนัก ไปฝากความหวังไว้กับกฎหมายลูก ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบ เนื้อหาจะไปทางไหนชัดเจนมากนัก
ด้านรศ.วุฒิสาร กล่าวถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศ อนาคตท้องถิ่นไทยแค่รักษาตัวให้อยู่ได้ก็บุญแล้ว วันนี้เราติดอยู่กับกรอบความคิดว่า ต้องไปทำกฎหมายก่อน รัฐธรรมนูญต้องเปิด ต้องกำหนดแนวทางไว้ถึงทำ
"เราอาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ หากให้ท้องถิ่นไทยมีอนาคตจริง ต้องอาศัย 2 ขา คือขากฎหมายที่เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อหาจำนวนมากไม่ได้เขียนอะไรที่ละเอียด เหมือนฉบับที่ตกไป ไม่ผูกขาดชุดความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา"
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงการได้มีโอกาสเสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น หลักการให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยจัดกิจกรรมสาธารณะ การผ่องถ่ายงานจากรัฐสู่ท้องถิ่น จากท้องถิ่นสู่เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงการพัฒนารายได้ ของเดิมเขียนทำนองการบริการสาธารณะจะจัดให้เมื่อมีรายได้เพียงพอ ซึ่งได้มีการเติมถ้อยคำ เรื่องการปรับระบบภาษี ส่งเสริมการพัฒนารายได้ของท้องถิ่นเอง และหลักบังคับให้ท้องถิ่นต้องรายงานประชาชน ถูกเพิ่มเติมไปในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
"อนาคตท้องถิ่นบนขาที่ 2 ที่ไม่ใช่ขากฎหมาย ท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาทำให้มีธรรมาภิบาล ให้เห็นคุณภาพบริการประชาชนดีขึ้น เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องรอกฎหมายใดทำได้เลย"
ในมุมมองการทำงานระหว่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับท้องถิ่น เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีรายงานเสนอไปแล้ว เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำงานของท้องถิ่นกับสตง. มีการรายงานเข้าสภา มีข้อเสนอหลายเรื่องที่สตง. ต้องทบทวนการทำงานว่าการทำงานก้าวหน้าหรือไม่