กก.สปสช.ติง สตง.เลิกตีความงบตามตัวอักษร แนะดูเจตนาคนทำงาน
กรรมการ สปสช.ติง สตง.ตีความใช้งบประมาณตามตัวอักษรจะเป็นปัญหาในการพัฒนา แนะปรับมุมมองเชิงบวก ดูเจตนารมณ์คนทำงาน และช่วยแนะแนวทางออกให้ด้วย
สืบเนื่องจากกรณีเทศบาลเนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่ถูก สตง.ท้วงติงว่าการใช้งบประมาณจัดรถรับส่งเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเนินกุ่มไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของเทศบาล จนทางศูนย์ฯ ต้องยกเลิกบริการรถรับส่งเด็กแล้วให้ผู้ปกครองมารับลูกหลานเอง
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความเห็นถึงปัญหาการตีความกฎหมายของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า การมีกฎเกณฑ์กติกาเพื่อเป็นกรอบในการใช้เงินทำให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ในการปฏิบัติจริง ถ้าตีความตรงตามตัวอักษรจนมากเกินไป ก็อาจเป็นปัญหาในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า อยากให้ สตง.ปรับมุมมองและเข้ามาร่วมมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ ว่าโดยกรอบหลักที่มีอยู่นี้ จะนำเงินไปใช้ในการทำงานเชิงพัฒนาได้อย่างไร พูดง่ายๆ คือจะปลดล็อกอย่างไร เชื่อว่า สตง.ก็คงเข้าใจว่าการทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่การทำงานในเชิงคอรัปชั่น เพียงแต่ไม่ตรงตามตัวหนังสือที่เขียนเอาไว้ก็เลยอาจจะมองว่าผิด การตีความว่าผิดจึงกลายเป็นตัวล็อกที่เป็นปัญหาสำหรับคนทำงาน
“อยากฝากเป็นข้อเสนอแนะในมุมการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ให้คนทำงานในระดับนโยบายปรับเปลี่ยนมุมมองในทางบวกว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ประเทศไทยก้าวพ้นจากตัวหนังสือไปแล้ว ต้องไปดูที่วิธีการทำงาน เจตนารมณ์การทำงานขององค์กรนั้นๆ แล้วมีช่องทางอย่างไรที่จะแนะนำ รวมทั้งอาจจะต้องมองระบบการประเมินติดตามตรวจสอบที่เป็นแนวทางใหม่ๆ” ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวและว่า เพราะปัจจุบันภาคประชาชนเข้มแข็ง มันไม่ใช่ทำงานเชิงรัฐอย่างเดิมที่จะบอกว่าเช่าห้องประชุมห้ามเกินอัตรานี้ กินข้าวห้ามเกินมื้อละกี่บาท นี่คือมองในบริบทรัฐเดิมๆ แต่งานมันออกนอกบริบทรัฐไปมากแล้ว อย่างเช่นจะเอารถไปรับส่งเด็ก มันก็เป็นการเข้าถึงบริการ มันเลยบริบทเก่าๆ ไปแล้ว อย่ามองจบแค่ว่าทำไมไม่เอาเงินผู้ปกครองมาจ่าย แต่มองทะลุไปถึงว่าถ้าไม่เป็นแบบนี้จะเกิดอะไร ผลที่ตามมาคุ้มค่าหรือไม่กับเงินที่จ่าย.
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://www.thaihealth.or.th/