แจ้งจับ 2 คนไทยส่อ‘นอมินี’ถือหุ้นชาวมาเลเซีย จ.สงขลา -อิศรา พบ 3 ราย 250 ล.
กรมพัฒนาธุรกิจฯร้องทุกกล่าวโทษ 2 คนไทยร่วมถือหุ้นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย จ.สงขลา ปม‘นอมินี’ต่างด้าวทำโรงแรม อสังหาฯ เรียกสอบปากคำแล้วไม่น่าเชื่อถือ หลังกองทัพประสาน-เห็นข้อมูลใน‘อิศรา’ – สาวลึกกลุ่ม MBI พบชื่อ 3 รายครองอื้อ 10 บริษัท 250 ล.
สืบเนื่องจาก วันที่ 29 ม.ค. 59 เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.สะเดา เจ้าหน้าที่ที่ดิน และพาณิชย์ จ.สงขลา เข้าตรวจสอบ บริษัท MBI GROUP (เอ็มบีไอกรุ๊ป) ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ของนายเตียว วุย ฮวด นักธุรกิจสัญชาติมาเลเซีย และยึดเงินไทยและเงินสกุลต่างประเทศรวมประมาณ 83 ล้านบาทเอาไว้ตรวจสอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและการเข้ามาจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่
กรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นายเตียว วุย ฮวด เจ้าของกลุ่มเอ็มบีไอมีบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยทั้งสิ้น 15 บริษัท แบ่งเป็นจัดตั้งใน อ.สะเดา และ อ.นาทวี จ.สงขลา 14 บริษัท และ กรุงเทพฯ 1 บริษัท โดยมีคนไทยอย่างน้อย 2 คนร่วมถือหุ้นกับนายเตียว วุย ฮวด และตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวแจ้งผลประกอบการขาดทุนจำนวนมาก (อ่านประกอบ:ผ่าขุมธุรกิจ MBI กรุ๊ป ตั้ง 15 บ.ในไทย ‘เตียว วุย ฮวด’หุ้นใหญ่ ก่อนถูกสอบที่‘สงขลา’)
ล่าสุด เวลา 16.00 น.วันที่ 16 มี.ค.59 นายจิตกร ว่องเขตกร ผู้อำนวยการกองธรรมภิบาล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบบุคคลที่ร่วมถือหุ้นในธุรกิจของเอกชนกลุ่มหนึ่งพบ 5 บริษัทมีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย 1 คนเป็นชาย อีก 1 คนเป็นผู้หญิง และได้เรียกผู้ถือหุ้นทั้ง 2 รายมาสอบถามข้อเท็จจริงพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าถือหุ้นแทนคนต่างด้าว จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.สะเดา เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
นายจิตกร เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับการประสานงานจากกองทัพให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบกับข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอเกี่ยวกับธุรกิจของเอกชนกลุ่มนี้เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. กรมพัฒนาธุรกิจได้สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ถือหุ้นชาวไทย 2 ราย ทั้งสองคนไม่ได้ยอมรับตรงๆว่าเป็นนอมินีให้แก่นักธุรกิจชาวมาเลเซีย เพียงแต่บอกว่าเงินที่นำมาซื้อหุ้นลงทุนมาจากนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ในลักษณะเป็นการกู้ยืมเนื่องจากเป็นพันธมิตรกัน หากมีรายได้ก็จะส่งกลับคืนให้ชาวมาเลเซีย แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีหลักฐานว่ามีการกู้ยืม ขาดความน่าเชื่อถือ การกระทำเข้าข่ายเป็นนอมินีให้แก่นักธุรกิจชาวต่างชาติ จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 36
“ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจกำลังตรวจสอบงบการเงินของนิติบุคคลกลุ่มนี้ เนื่องจากมีการลงรายการกระแสเงินไม่ตรงกับข้อเท็จจริง”นายจิตกรกล่าว
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในจำนวน 15 บริษัทกลุ่มเอ็มบีไอมีผู้ถือหุ้นชาวไทย 3 คนถือหุ้นร่วมกับนายเตียว วุย ฮวด นักธุรกิจสัญชาติมาเลเซีย ได้แก่
1.นายไพโรจน์ ศิริพัฒน์ธนภาค ถือหุ้นจำนวน 10 บริษัท รวมมูลค่าประมาณ 124.7 ล้านบาท อาทิ
บริษัท เอ็ม วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 100 บาท หรือ 25 ล้านบาท บริษัท เซาท์เทิร์น เอเซีย จำกัด จำนวน 780,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท หรือ 78 ล้านบาท บริษัท บิลเลี่ยนคอนโด จำกัด จำนวน 133,900 หุ้น (26%) มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นต้น
2.น.ส.นันทภัค ภานุวัฒนากูล จำนวน 10 บริษัท รวมมูลค่าประมาณ 104 ล้านบาท อาทิ บริษัท เอ็ม วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำนวน 110,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท หรือ 11 ล้านบาท บริษัท เซาท์เทิร์น เอเซีย จำกัด จำนวน 750,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 100 บาท หรือ 75 ล้านบาท บริษัท บิลเลี่ยนคอนโด จำกัด จำนวน 128,750 หุ้น (25%) มูลค่าหุ้นละ 100 บาท
3.นายมนัสพงษ์ พรหมอินทร์ จำนวน 3 บริษัท รวมมูลค่าประมาณ รวมประมาณ 21.7 ล้านบาท ได้แก่ 1.บริษัท เอ็ม วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำนวน 150,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท หรือ 15 ล้านบาท บริษัท จีไนน์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด จำนวน 60,000 หุ้น (20 %) มูลค่าหุ้นละ 100 บาท และ บริษัท แปซิฟิค เน็ต จำกัด จำนวน 700 หุ้น (14%) มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท
รวม 3 คนประมาณ 250 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า นายไพโรจน์ ศิริพัฒน์ธนภาค ปัจจุบันอายุเพียง 29 ปี น.ส.นันทภัค ภานุวัฒนากูล อายุ 32 ปี ทั้งสองคนมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะที่ นายมนัสพงษ์ พรหมอินทร์ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุว่าอยู่ในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 36 ระบุว่า ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียวหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่