ชัดๆ พฤติการณ์นักข่าวช่อง11 ของบ'เอแบคฯ' จัดกีฬาสี ซื้อเหล้า-เบียร์แจก!
"...ในช่วงปีใหม่ (ขณะนั้น) ทางสถานีมีงานเลี้ยง มีการแข่งกีฬาสี เขาได้ขอความอนุเคราะห์รับการสนับสนุนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นการขอด้วยวาจา โดยเป็นผู้ไปขอการสนับสนุนเอง สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ให้เงินสนับสนุนมาจํานวน 6,000 บาท เป็นเงินสด ไม่มีการสนับสนุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เขาจะนําเงินที่ได้มาไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์.."
นักข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สทท. หรือ เอ็นบีที รายหนึ่ง ปรากฎชื่อเป็น 1 ใน 3 นักข่าว ที่ถูกคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 องค์กร ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชี้มูลในผลสรุปการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ่ายค่าตอบแทนให้กับสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาท
ระบุว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และเสนอเรื่องให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามธรรมนูญ ข้อบังคับประกาศ และแนวปฏิบัติของสภาและสมาคมวิชาชีพของแต่ละองค์กร
(อ่านประกอบ :กก.สอบ4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ' พฤติการณ์ชัด3ราย!)
น่าสนใจว่า พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ของนักข่าว สทท. รายนี้ เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า นักข่าว สทท.รายนี้ ปรากฎชื่ออยู่ในตารางค่าใช้จ่ายที่สํานักวิจัยเอแบคโพล์จ่ายนักข่าว มีรายละเอียดว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2551 ระบุว่า ซองค่าตอบแทน NBT (2 ซอง @ 2,000 บาท) จํานวนเงิน 4,000 บาท, วันที่ 23 ธันวาคม 2541 ระบุว่า เลี้ยงข้าวนักข่าว NBT จํานวนเงิน 1,020 บาท, วันที่ 6 เมษายน 2553 ระบุว่า ค่าผลไม้ + ข้าวเปล่า นักข่าวช่อง 5 + 11 จํานวน 150 บาท และค่าอาหารเลี้ยงแขก นักข่าวช่อง 5 + 11 จํานวน 655 บาท, วันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ระบุว่า ค่าตอบแทนสกุ๊ปข่าว นักข่าวช่อง 11 จํานวน 4,025 บาท, วันที่ 1 สิงหาคม 2553 ระบุว่า เงินช่วยอุบัติเหตุ + ค่าโอน 2,025 บาท, วันที่ 11 มิถุนายน 2555 ระบุว่า ค่าตอบแทนนักข่าว 16,035 บาท และวันที่ 3 กรกฎาคม2556 ระบุว่า ค่าตอบแทนนักข่าว (ชื่อนักข่าว สทท.รายนี้) 8,025 บาท
ทั้งนี้ นักข่าว สทท. รายนี้ เข้าไปปากคำต่อคณะกรรมการฯ ระบุว่า ปัจจุบันสังกัดอยู่ในส่วนข่าว โต๊ะข่าวสังคมดูแลในส่วนข่าวนายกรัฐมนตรี และข่าวผู้บังคับบัญชา กรมประชาสัมพันธ์
ในส่วนของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทําผลสํารวจเกี่ยวกับยาเสพติดให้แก่ สํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
โดยในส่วนงานของ ป.ป.ส. กับกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 ได้ทําบันทึกข้อตกลงในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานและข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศทําสงครามกับผู้ค้ายาเสพติด ประมาณ 1 ปี
หลังจากนั้น นักข่าวรายนี้ ได้เข้าไปช่วยสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ทําการสํารวจผลวิจัยหลังปี พ.ศ. 2549 งานในส่วนการวิจัยเรื่องยาเสพติดต้องเข้าไปเกี่ยวข้องค่อนข้างบ่อย ส่วนงานข่าวอื่นของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ จะเข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนของการเปิดศูนย์วิจัยความสุขชุมชนที่เพิ่มเติมการวิจัยเรื่องความสุขของคนไทยกับสถาบัน ในส่วนประเด็นอื่นก็แล้วแต่วาระ ถ้าว่างจากงานหลักจะเข้าไปที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์
นักข่าวรายนี้ ระบุว่า การที่เขาได้รับมอบหมายไปทําข่าวของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เริ่มจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์จะเชิญมาทางจดหมาย อิเล็คทรอนิกส์ โทรศัพท์มาตามว่า สามารถไปร่วมทําข่าวได้หรือไม่ มีการส่งประเด็นของข่าวมาให้ทราบล่วงหน้า เขาจะนําเสนอให้บรรณาธิการของสถานีพิจารณาว่า ประเด็นนี้จะให้ไปทําข่าวหรือไม่
พร้อมยืนยันว่า โดยส่วนตัวแล้ว กับ ผู้บริหารสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ถือว่าค่อนข้างจะสนิทกัน เพราะงานในส่วนของการทําข้อมูลเรื่องยาเสพติด ได้เข้าไปคุยหารือกันบ่อย
นอกจากนี้ ในช่วงปีใหม่ (ขณะนั้น) ทางสถานีมีงานเลี้ยง มีการแข่งกีฬาสี เขาได้ขอความอนุเคราะห์รับการสนับสนุนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นการขอด้วยวาจา โดยเป็นผู้ไปขอการสนับสนุนเอง
สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ให้เงินสนับสนุนมาจํานวน 6,000 บาท เป็นเงินสด ไม่มีการสนับสนุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เขาจะนําเงินที่ได้มาไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ส่วนจํานวนเงิน 16,000 บาท ที่ได้รับจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เป็นช่วงเวลาที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ย้ายที่ทําการจากตึกเก่ามาอยู่ที่ตึกใหม่ เขาได้รับจ้างทํา Presentation ให้แก่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เป็นการรับงานนอก
นักข่าวรายนี้ ยืนยันว่า เงินที่ได้รับจากสํานักเอแบคโพลล์ส่วนใหญ่เป็นการโอนเข้าบัญชี ไม่มีการลงชื่อรับเงิน
ส่วนการทําสกู๊ปข่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องผลของโพลล์ที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทําการวิจัย เป็นผลงานที่ผลิตออกอากาศทางสถานี สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ให้เงินมาเป็นสินน้ำใจ
ทั้งนี้ ในการติดต่อประสานงานในบางครั้งมีการติดต่อผ่านทาง อดีตนักข่าวอดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ถ้าไม่พบก็จะไปพบในงานของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์
ขณะที่ในงานของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เขาได้พบนักข่าวหลายคนที่รู้จักกันอยู่ในสายสังคม ซึ่ง
เป็นสายงานที่มักจะพบกันในงานของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์บ่อยครั้ง และมีการเลี้ยงอาหารในบางครั้ง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ
นักข่าวรายนี้ ยังย้ำว่า เมื่อสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เกิดปัญหาการตรวจสอบ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนทุกส่วนว่ามีการทุจริตหรือไม่ มีปัญหาเรื่องเงิน เงินไปอยู่กับใครบ้าง นําเงินไปทําอะไรบ้าง
ทั้งนี้ นักข่าวรายนี้ จบการศึกษาปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ ซึ่งมีการสอนวิชาจริยธรรมสื่อมวลชน ทราบเรื่องข้อห้ามการรับเงินของนักข่าว แต่เรื่องการรับเงินของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นเรื่องปกติ
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการและขั้นตอน การรับค่าตอบแทน ของ นักข่าว จาก แหล่งข่าว ได้ชัดเจนที่สุด อีกกรณีหนึ่ง
อ่านประกอบ:
ข้อมูล 2 พิธีกรสาวชื่อดัง ในผลสอบกรณีเอแบคฯ จ่ายค่าตอบแทนนักข่าวฉาว!
โดนยัดซองในเอกสาร!'ไทยพีบีเอส' แจงนักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ'พ้นสภาพนานแล้ว
กก.สอบ4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ' พฤติการณ์ชัด3ราย!
ชื่อ"นักข่าว"หราโผล่รับเงิน 2 ล.!ผลสอบระบุ"เอแบคโพลล์"ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล.
สภาฯหนังสือพิมพ์ สั่งสอบปม "นักข่าวทีวีปริศนา" รับเงิน เอแบคโพลล์ 2.1 ล.
"จรรยาบรรณเราก็มี":เปิดใจ"นักข่าว"รับค่าตอบแทนเอแบคโพลล์ 2.1ล.?