เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้รัฐเร่งจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชน 22 ประเด็น
เครือข่ายภาคประสังคมร้อง รัฐเร่งทบทวนคำมั่นสัญญาเรื่องสิทธิมนุษยชน 22 ประเด็น ก่อนมีการพิจารณาใหม่รอบ 2พ.ค.ปีนี้ ที่สวิสเซอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ องค์กร UPR info จัดเสวนา “บทบาทประชาคมโลกต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ณ ห้องกมลมาศ โรงแรมสุโกศล เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากตัวแทนองค์กรภาคประชาคมกว่า 22 ประเด็น ที่มีการยื่นผ่านกระบวนการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย หรือ UPR (Universal Periodic Review)
นายธนิษฐ์ นีละโยธิน ตัวแทนเครือข่ายประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า หลังจากรัฐประหารในปี 2557 สถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเริ่มเลวร้ายลง อันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่ง คสช.หลายฉบับ รวมไปถึงการควบคุมตัว การเรียกผู้เเสดงความเห็นไปปรับทัศนะคติ การบังคับสูญหาย เป็นต้น ซึ่งในรายงานของทางกลุ่มระบุให้รัฐต้องรีบยกเลิกหรือทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ
ด้าน นางสาวจันทร์นภา คืนดี ตัวแทนเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภายใต้การควบคุมอำนาจของคสช. มีคำสั่งหลายฉบับที่สร้างผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เช่นแผนแม่บทป่าไม้ คำสั่ง ม.44 ในการยกเว้นเรื่องผังเมือง รวมไปถึงนโยบายพลังงาน เป็นต้น ซึ่งพบว่า คำสั่งดังกล่าวนั้นเอื้อต่อการดำเนินกิจการและโครงการขนาดใหญ่กว่า 70 โครงการ
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมตัวชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องสิทธิในปรับทัศนคติ การข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การปะทะกันระหว่างทหารกับชาวลาหู่ หรือเหตุการณ์ชาวเลที่หาดราไวย์ เป็นต้น โดยทางเครือข่ายเรียกร้องให้รัฐควรเพิกถอนโครงการและคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน พร้อมทั้งเร่งให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะการออกคำสั่งภายใต้อำนาจ คสช.นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการรับฟังประชาชน เป็นอำนาจที่ออกโดยคนไม่มีกลุ่มที่คุมอยู่ด้านบน
ด้านนางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุลผู้อำนวยการ Asylum Access Thailand กล่าวว่า กระบวนการ UPR เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council-HRC) เป็นหนึ่งกลไกที่ประชาคมโลกจะได้มีการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระบวนการนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องจัดทำรายงาน UPR เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีข้อเว้น ซึ่งจะมีการทบทวนแต่ละประเทศในทุกๆ 4 ปี
น.ส.ปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการจัดกระบวนการ UPR ครั้งแรกไปเมื่อปีเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยที่ไทยนั้นได้รับข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสิ้น 183 ข้อ แต่ประเทศไทยตอบรับข้อเสนอแนะเพียง 134 ข้อ พร้อมทั้งให้คำมั่นในอีก 34 ข้อ ในขณะที่การยื่นรายงานเพื่อการพิจารณานั้น จะประกอบไปด้วย รายงาน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับจากภาครัฐ ฉบับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และฉบับจากภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกจาก 22 ประเด็นเครือข่ายได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามพันธกรณีและคำมั่นสัญญาในเคารพ ปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ไว้ในการทบทวนในรอบที่ผ่านมา รวมถึงเข้าพบตัวแทนจากสหภาพยุโรปเพื่อสะท้อนปัญหาในเรื่องดังกล่าว เพื่อยืนยันเสียงของภาคประชาสังคม
สำหรับการพิจาณา UPR ในรอบที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 นี้ โดยจะมีการประชุมพิจารณาที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์เเลนด์ ซึ่งมีประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะมีการทบทวนและติดตามผลจากข้อเสนอในรอบที่1 ในหลายประเด็น อาทิเช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม การจัดการทรัพยากรของชุมชน สิทธิสตรีและเด็ก ฯลฯ โดยทางภาครัฐ ภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศได้จัดส่งรายงาน UPR ไปเมื่อปลายปี 2558 เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว.