คสช.ชง3ประเด็นแก้ รธน.มี ส.ว.สรรหาคุมเปลี่ยนผ่าน-ผบ.เหล่าทัพเป็นโดยตำแหน่ง
คสช. ทำหนังสือถึง ‘มีชัย’ ขอให้บทเฉพาะกาล รธน. บัญญัติ ส.ว.สรรหา ชุดแรก 5 ปี คุมช่วงเปลี่ยนผ่าน ผบ.เหล่าทัพ-ปลัด กห. ตบเท้าเป็นโดยตำแหน่ง ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รบ. ได้ ขอใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ขยายเขตใหญ่ขึ้น ไม่เอาบอกชื่อนายกฯก่อน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหนังสือข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช. โดยนายมีชัย ลงนามรับทราบแล้ว
หนังสือดังกล่าว ระบุใจความสำคัญว่า ในระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นวาระแรกของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงควรมีบทเฉพาะการให้ ส.ว.ชุดแรก มาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่า จะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน อย่างน้อยก็ในระยะแรกได้ว่า แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่ก็ช่วยประคับประคองความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมกับ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ ตามข้อเสนอในบทเฉพาะกาลเพื่อพิจารณาดังนี้
1.ให้ ส.ว. มีจำนวน 250 คน ซึ่งมีกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (ส.ส. มี 500 คน)
2.มาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ วิธีการดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระ มีจำนวน 8-10 คน
3.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เนื่องจากให้สอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4.คุณสมบัติ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด แต่เพื่อประโยชน์ในการพิทักษ์รักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในกรณีที่ต้องมีคุณสมบัติว่า “ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือมีเงินเดือนประจำ” ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่ง ซึ่งมิใช่ใน คสช. ในปัจจุบัน โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน หรือไม่เกินร้อยละตามสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เข้ามาเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่าสมาชิกคนอื่น ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
5.อำนาจหน้าที่ ไม่มีอำนาจเลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แต่มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูปตามแผนการปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐ ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ มีสว่นในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนวิธีดำเนินการตามแผนและนโยบายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีแต่ละคณะจะเลือกใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของตนตามที่หาเสียงไว้
และเพื่อ ส.ว. วาระแรกนี้ ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มิให้ฝ่ายการเมืองอาศัยเสียงข้างมากใน ส.ส. บิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความต้องการของประชาชน และยังสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน จึงควรให้ ส.ว. มีบทบาทในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออื่น ๆ ตามกติการะบบรัฐสภา และกระบวนการยุติธรรมตามสมควรในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ วิธีการเลือกตั้ง ส.ส. นั้บให้ทบทวนระบบเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะใช้บัตร 2 ใบ และให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น โดยมี ส.ส. จำนวนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกได้เพียง 1 คน ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดลดหลั่นลงไปจนได้ครบจำนวนที่ต้องการ
ส่วนกรณีการแจ้งรายชื่อนายกรัฐมนตรีล่วงหน้าไม่เกิน 3 รายชื่อนั้น ควรคำนึงว่าเรื่องนี้เป็นมาตรการมาใช้ครั้งแรกหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมา และอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทำทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหว สุ่มเสี่ยงกับระยะเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นการนำกติกาใหม่ ๆ มา อาจเป็นอีกกับดักหนึ่งที่ปิดทางออกในยามวิกฤติจนทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไม่ได้ จึงไม่ควรใช้ระบบแจ้งชื่อผู้มาเสนอให้ ส.ส. ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี
“คสช. ขอเรียนว่า อย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ คสช. ยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาใน Roadmap และในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่” หนังสือดังกล่าว ระบุ