สบพ.เผยไทยขาดแคลนนักบิน ผลิตได้สูงสุดปีละ 300 คน
สมศ.เปิดสถิติคุณภาพสถาบันการบิน ไทยมีมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตร 26 เเห่ง สถาบันการบินพลเรือน-ม.อีสเทิร์นเอเชีย-ม.รังสิต ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 เกณฑ์ระดับดี ด้านผู้ว่า สบพ.เผยนักบินขาดเเคลน ต้องการใหม่ปีละ 500 คน ผลิตได้เพียง 300 คนเท่านั้น
วันที่ 15 มีนาคม 2559 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จัดแถลงข่าว มาตรฐานสถานศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินในประเทศไทย ณ หอประชุม สถาบันการบินพลเรือน จตุจักร
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน 26 แห่ง โดยที่เปิดสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบิน 5 แห่ง ซึ่งมี 3 แห่ง ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-58) และอยู่ในระดับคุณภาพดี ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน ม.อีสเทิร์นเอเชีย และม.รังสิต
อีก 2 แห่ง ที่เปิดสถาบันการบินเพิ่ม และจะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-63) คือ ม.นครพนม และม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีก 21 แห่ง ที่มีการเปิดหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ล้วนมีผลการประเมินของ สมศ.อยู่ในระดับ ดี-ดีมาก
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คน ปี 2557 มีมากกว่า 9,000 คน และปี 2558 มีประมาณ 1.5 หมื่นคน” ผอ.สมศ. กล่าว
ด้านนาวาอากาศเอกจิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบิน 2,500-3,000 คน ซึ่งในแต่ละปีธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200-300 คน
รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300-400 คน/ปี จากความต้องการมากกว่า 400 คน/ปี
สำหรับสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน เฉพาะนักบิน ผลิตได้ 100-120 คน ซึ่งในส่วนของการจัดการเรียนการสอนอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมการบิน มีคณาจารย์ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยและเพียงพอต่อการเรียนการสอนให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น เครื่องบิน เครื่องฝึกบินจำลอง ห้องจำลองการฝึกการควบคุมจราจรทางอากาศ อุปกรณ์และเครื่องมือในการฝึกซ่อมบำรุงอากาศยาน
“มีการจัดการเรียนการสอนภาคพื้นตั้งแต่ระดับฝึกอบรม อนุปริญญา ปริญญาตรี จนถึงปริญญาโท พร้อมทั้งมีการเรียนการสอนภาคอากาศในหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล นักบินพาณิชย์ตรี ทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งหลักสูตรการบินต่าง ๆ อีกหลายหลักสูตร ให้กับนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ” ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ระบุ .