นักวิชาการคาดภัยแล้งทำเศรษฐกิจภาพรวมเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้าน
'ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ' คาดภัยเเล้งทำเศรษฐกิจภาพรวมเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ไม้ผล-ข้าวนาปรัง-สับปะรด-ปาล์ม กระทบหนักสุด หวั่นสถานการณ์ยืดเยื้อ ปชช.จะย้ายถิ่น ละทิ้งที่อยู่อาศัย เเนะเเนวทางระยะสั้น -ยาว เเก้ปัญหา
วันที่ 14 มีนาคม 2559 ที่อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ ม.รังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยถึงผลกระทบภัยเเล้งต่อภาคเกษตรกรรมเเละเศรษฐกิจ ในเวทีเสวนา “ทางออกผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจและภาคเกษตรกรรม” โดยภาพรวมความเสียหายเชิงเศรษฐกิจต่อพืชผลต่าง ๆ ในภาคเกษตรกรรมเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 19,460-20,000 ล้านบาท รายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาท/ครัวเรือน/ปี
มีจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรที่จดทะเบียน 7.1 ล้านครัวเรือน ความเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งอยู่ที่ 24,353-25,000 ล้านบาท รวมความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร 43,813-45,000 ล้านบาท จีดีพีภาคเกษตรกรรมลดลง สินค้าเกษตรที่กระทบมาก คือ ไม้ผล ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ที่กระทบปานกลาง คือ ข้าวนาปี ปศุสัตว์ กระทบไม่มาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย
"ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาสำคัญของชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ นอกจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งแล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ภาคการบริโภค ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ภาคการค้า ภาคท่องเที่ยว เมื่อประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม (รวมภาคเศรษฐกิจอื่นๆ) ไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท"
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวต่อว่า หากปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้างและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ยืดเยื้อยาวนาน จะก่อให้เกิดการอพยพทิ้งถิ่นฐานที่ดินทำกิน ละทิ้งที่อยู่อาศัย ปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศผันผวนรุนแรงขึ้น เกิดภาวะแห้งแล้งถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น เกิดภาวะน้ำท่วมถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น
ผลกระทบภัยแล้งจะทำให้ หนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อจีดีพีภาคเกษตร ในปี พ.ศ. 2559 อาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 80% ได้ โดยหนี้สินของเกษตรกรในระบบราว 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ประมาณ 70-75% เป็นหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ฉะนั้น รัฐบาลสามารถทำโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งพักชำระหนี้ได้ หากผลกระทบภัยแล้งมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้ลดลงต่ำกว่า 153,000 บาท/ครัวเรือน/ปี (ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายโดยเฉลี่ย)
ดร. อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบภัยแล้งว่า มาตรการระยะสั้น 1. สนับสนุนการจ้างงานเพื่อขุดลอกคูคลองและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรในชนบท 2. เพิ่มพื้นที่ทำฝนหลวง เร่งรัดโครงการแก้มลิง 3. ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ประชาสัมพันธ์เลื่อนการปลูกข้าวนาปี 4. รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวเมืองและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ส่วนมาตรการระยะยาว 1. ลงทุนการบริหารจัดการน้ำและการจัดการระบบชลประทานอย่างเป็นระบบ 2. ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำ 3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำชุมชน 4. ศึกษาระบบการใช้น้ำหมุนเวียน นำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 5. ปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ 6. การพัฒนากลไกของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของตลาด 7. ความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming)
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าปรากฎการณ์เอลนิโญจะรุนแรงช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ประเทศจะเผชิญภัยแล้งรุนแรง ปริมาณฝนลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยมากที่สุด ในระยะยาวต้องปรับโครงสร้างการใช้น้ำทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและชุมชนเมืองให้เหมาะสมกับทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ ไม่ให้เกิดภาวการณ์แย่งชิงทรัพยากรน้ำในอนาคต
"ต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และพัฒนาและสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและฝายกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จัดตั้งกองทุนน้ำโดยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหรือการทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือเกษตรอุตสาหกรรม" นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:www.phitsanulokhotnews.com