วสท.เตรียมรีเช็คอาคารทั่ว ปท. หลังก๊าซไพโรเจน ระเบิดคร่า 8 ชีวิต เอสซีบี ปาร์ค
วสท.ลงพื้นที่เอสซีบี ปาร์ค ตรวจสอบเหตุสารดับเพลิง ไพโรเจน คร่า 8 ชีวิต เตรียมส่งพิสูจน์ทางเคมี พร้อมรีเช็คอาคารทั่วประเทศใช้ระบบดังกล่าว
วันที่ 14 มีนาคม 2559 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานทีชั้นใต้ดิน อาคารเอสซีบี ปาร์ค ภายหลังเกิดเหตุถังดับเพลิงชนิดสารเคมีระเบิด จนมีผู้เสียชีวิต 8 ศพ ณ ตึกบี ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยถึงสาเหตุว่า ผู้รับเหมาลงไปทำงานในห้องมั่นคง ชั้นบี 2 เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบดับเพลิง ซึ่งที่นิยมใช้ในอาคารสูง คือ สปริงเกอร์ แต่สำหรับธนาคารหรือบางหน่วยงานที่มีกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายหรือเอกสารเปียกแฉะจากน้ำ ทำให้ต้องใช้ไพโรเจน (Pyrogen)
“ไพโรเจนมีลักษณะเหมือนกระป๋องสีทาบ้าน ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ทันทีที่จับควันได้ โดยมีอานุภาพของแข็งเป็นโปแตสเซียมคาร์บอนเนต ซึ่งก๊าซจะช่วยยุติลูกโซ่เกิดความร้อนทำให้เกิดไฟ โดยไม่ใช้น้ำได้”
ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในเว็บไซต์ของผู้ผลิต นายก วสท. กล่าวว่า ได้ระบุไพโรเจน ไม่เป็นก๊าซพิษรุนแรง และไม่จำกัดออกซิเจน แต่เหตุใดเหตุการณ์ครั้งนี้จึงมีผู้เสียชีวิต ดังนั้น วสท.จึงอยากทราบข้อเท็จจริง เเละเตรียมตรวจสอบการใช้ระบบดังกล่าวในอาคารอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนี้
1.ระบบทำงานโดยไม่เกิดไฟไหม้ได้อย่างไร
2.เมื่อระบบทำงานแล้ว ทำไมคนจึงหนีไม่ได้
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า หากไม่ทราบข้อเท็จจริง 2 ข้อข้างต้น อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารและพิพิธภัณฑ์ที่มีภาพเขียนมักนิยมใช้ระบบการทำงานดังกล่าว แต่เท่าที่ได้รับข้อมูลมา ในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น ส่วนในต่างประเทศ เคยเกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลการลงพื้นที่ได้ เพราะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงบริษัทผู้จัดจำหน่าย แต่เบื้องต้นคาดว่าวันที่ 15 มีนาคม 2559 จะทราบว่า ระบบทำงานโดยไม่เกิดไฟไหม้ได้อย่างไร ส่วนทำไมคนจึงหนีไม่ได้นั้น โดยปกติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ประตูนิรภัยจะต้องเปิดทันที เพื่อดูแลชีวิตคนก่อน
“สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ผลิตโฆษณาว่า ไพโรเจนไม่จำกัดออกซิเจน จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ คงไม่สามารถตอบได้โดยไม่ทราบข้อมูลทางเคมี ซึ่งต้องขอความอนุเคราะห์ห้องแลปจากมหาวิทยาลัย ส่วนยี่ห้อผลิตภัณฑ์นั้นไม่ทราบ” นายก วสท. กล่าว และว่า ระบบดับเพลิงมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่คอนโดทั่วไป ‘สปริงเกอร์’ ก็เพียงพอแล้ว ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือทางการทหาร จะมีระบบป้องกันซับซ้อนมากขึ้น
ด้าน รศ.สิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตหมดสติทันทีภายใน 15 วินาที ทันทีที่สัมผัสความร้อน 300-400 องศาเซลเซียส จึงเป็นสาเหตุสำคัญ แต่โครงสร้างของตัวอาคารไม่มีปัญหา แม้ความร้อนจะมีอุณหภูมิสูง ทั้งนี้ สิ่งที่ วสท.จะดำเนินการต่อไป คือ ต้องศึกษาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นแท้จริง เพื่อสร้างมาตรฐานวิธีปฏิบัติการควบคุมดูแลต่อไป .
อ่านประกอบ:กรณีศึกษา เมื่อเครื่องดับเพลิงทำงานอัตโนมัต ที่ SCB Park
ไทยพาณิชย์ แจงเหตุแก๊สไพโรเจนรั่วไหล เสียชีวิต 8 ราย ยันให้ความช่วยเหลือ