บอร์ดแพทย์แผนไทยใหม่ ดึงหมอพื้นบ้านทั่ว ปท.คุ้มครองภูมิปัญญาไทย
อธิบดีแพทย์แผนไทยเผยรวบรวม 8 หมื่นตำรายา-5 พันตำราแพทย์ไทย เตรียมเดินหน้าแผนคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ตามมติ ครม.
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่าได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแทนชุดเดิมที่หมดวาระลงทั้งหมด 21 คน ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน อาทิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ขณะที่อีก 10 คนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยการลงคะแนนเสียงจากผู้ได้รับการเสนอเข้าพิจารณาทั้งหมด 433 คน ได้ 1.นายวีรวัฒน์ อภิชิตวิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทย 2.นางลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์ ด้านโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ 3.นางศิวนาถ ยอดสุวรรณ์ ด้านหมอพื้นบ้าน(ภาคเหนือ) 4.นายบริบูรณ์ ธัชแก้วกรพินธุ์ ด้านหมอพื้นบ้าน(ภาคกลาง) 5.พระครูศุภาจารภิมล ด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 6.นายสะมะแอ จันทรัตนา หมอพื้นบ้าน(ภาคใต้) 7.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ด้านวิชาการ 8.นายกร พงษ์เถื่อน องค์การเอกชนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย 9.นายประจวบ จันทร์เพ็ญ ด้านการผลิตหรือจำหน่ายยาแผนไทย 10.นายณัฐ โฆษิวากาญน์ กลุ่มผู้ปลูกหรือแปรรูปสมุนไพร
โดยหลังจากนี้จะมีการประกาศให้ทราบ หากไม่มีผู้ทักท้วงภายใน 60 วันจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามต่อไป
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ผู้ทรงคุณวุฒิจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะ รัฐมนตรี(ครม.) ในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และกฎหมาย หรือประกาศตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวมทั้งดูแลคุ้มครองเกี่ยวกับสมุนไพรไทยในทุกด้าน เช่น การเห็นชอบออกกฎหมาย การเพิกถอน หรือกระทั่งการจดทะเบียนและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งที่ผ่านมากรมฯได้รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับตำรายาและตำราการแพทย์ทั่วประเทศจัดทำทะเบียน 89,866 รายการ แบ่งเป็นตำรายา 84,082 รายการและและตำราการแพทย์ 5,784 รายการ
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า การดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ยังรวมถึงการคุ้มครองสมุนไพรไทยในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่ง ครม.เห็นชอบการทำแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ ตามที่ สธ.เสนอ 7 แห่ง ได้แก่พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานสมเด็จพระศรีนคริทร์กาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่อุทยานแห่งชาติ(อช.)แม่วงก์ จ.กำแพงเพชร พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ฯ จ.นครพนม พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และอุทยานแห่งชาติ นายูง-น้ำโสม จ.อุดรธานี
โดยคาดว่าจะส่งลงประกาศในราชกิจานุเบกษา บังคับใช้ประมาณเดือน ม.ค.55 ส่วนพื้นที่ได้ประกาศไปแล้วมี 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ภูผากูด จ.มุกดาหาร พื้นที่ชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจอง- นายอย จ.อุบลราชธานี 5 พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา .
ที่มาภาพ : http://www.most.go.th/main/index.php/org/1049.html