‘พล.อ.ฉัตรชัย’ เผย รบ.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 40 ล้านไร่ ในอีก 10 ปี
'พล.อ.ฉัตรชัย' เผยไทยมีพื้นที่เกษตร 130 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานเพียง 29 ล้านไร่ ระบุรัฐบาลวางเเผนเพิ่มใน 10 ปีข้างหน้า ได้เเค่อีก 10 ล้านไร่ สั่งทุกจังหวัดทำเเผนบริหารพื้นที่เหมาะสมเพาะปลูก หลังพบสินค้าหลัก ข้าว ยาง มัน อ้อย เหมาะสมเพียง 63%
วันที่ 14 มีนาคม 2559 สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดงานโครงการจัดงานเพื่อสานพลังประชารัฐ ฐานเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ณ ฮอลล์ 9 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ทิศทางการพัฒนาการเกษตรกรไทยในทษวรรษหน้า ตอนหนึ่งระบุถึงภัยแล้งว่า หลายประเทศประสบภาวะเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจากการพบปะกับผู้นำด้านเกษตรของเวียดนาม และอินเดีย ในเวทีการประชุมนานาชาติ ล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง จนส่งผลกระทบต่อผลผลิต
"น้ำจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม 130 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตชลประทาน 29 ล้านไร่ มีโอกาสบริหารจัดการน้ำได้ และนอกเขตชลประทาน 101 ล้านไร่ ต้องอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น ฉะนั้นรัฐบาลจึงให้ต้องแก้ไขปัญหาเพิ่มพื้นที่ชลประทานในอีก 10 ปีข้างหน้า ตามแผนดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน"
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ไทยมีความสามารถในการพัฒนาเพิ่มแหล่งชลประทานเข้าถึงพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกเพียง 10 ล้านไร่เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยพื้นที่นอกเขตชลประทานในการทำเกษตรกรรมต่อไป นั่นหมายความว่า พื้นที่เกษตรกรรม 130 ล้านไร่ จะมีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน 40 ล้านไร่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงประชากรภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รุนแรง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ มีการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เหมาะสม จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า วันนี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เฉพาะสินค้าหลัก ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย มีพื้นที่เหมาะสมเพียงร้อยละ 63 การแก้ไขจึงต้องให้จัดทำแผนระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงดิน การส่งเสริมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการตลาด โดยให้กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดการส่งเสริมอย่างเหมาะสม .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์มติชนออนไลน์