โดนยัดซองในเอกสาร!'ไทยพีบีเอส' แจงนักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ'พ้นสภาพนานแล้ว
'ไทยพีบีเอส' ร่อนหนังสือถึง 'อิศรา' แจงปมผลสอบ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวในสังกัดรับเงินค่าตอบแทน 'เอแบคโพลล์' ยันเคยตั้งกก.สอบภายใน พบทำผิดวินัยจริง โดนยัดซองเงินในเอกสาร แต่ไม่ได้แจ้งหน.คิดว่าเป็นสินน้ำใจตามปกติ ปัจจุบันพ้นสภาพไปแล้ว ลงโทษทางวินัยตามระเบียบไม่ได้
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวผลสรุปข้อเท็จจริงกรณีสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ่ายค่าตอบแทนให้กับสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาท ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 องค์กร ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยพบว่า อดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท ,นักข่าวสทท. และอดีตผู้ประงานโครงการพิเศษไทยพีบีเอส มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และจะเสนอให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามธรรมนูญ ข้อบังคับประกาศ และแนวปฏิบัติของสภาและสมาคมวิชาชีพของแต่ละองค์กร
(อ่านประกอบ : กก.สอบ4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ' พฤติการณ์ชัด3ราย!)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 13 มี.ค.2559 งานสื่อสารองค์การองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสำนักข่าวอิศรา
ระบุว่า จากกรณีที่เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวการรับเงินจากสำนักวิจัยเอแบคโพล โดยมีพนักงานองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ตกเป็นข่าวว่า เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวด้วย
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จึงเรียนมา เพื่อชี้แจงให้ทราบดังนี้
1. ส.ส.ท.เป็นองค์กรที่มีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน และลูกจ้าง มาโดยตลอด แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว เป็นการภายในมาแล้วหลายครั้ง
2. ส.ส.ท. ได้ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยสมาคมวิชาชีพทั้ง 4 แห่ง ในการให้ข้อมูลมาโดยตลอด และเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และครบถ้วน ในทุกประเด็นที่คณะกรรมการต้องการทราบ
3. การยึดมั่นในข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้ส.ส.ท.ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ตั้งแต่ที่ปรากฏเป็นข่าวของสำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 กรกฎาคม 2558
4. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของส.ส.ท. ตามคำสั่งที่ 186/2558 ได้สรุปผลการสอบสวน ให้กับผู้อำนวยการส.ส.ท.แล้ว พบว่า มีผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่ง ที่ออกไปทำงานในวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ให้ข้อมูลเป็นเอกสารว่า ได้รับมอบหมายให้ออกไปทำงานแถลงข่าวที่สำนักวิจัยเอแบคโพล
“เมื่อทำงานเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยเอแบคโพลแจ้งว่า มีเอกสารจะมอบให้เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม และได้ยื่นเอกสารขนาดเอ 4 ให้ ระบุว่า เป็นผลการสำรวจที่สำนักวิจัยได้เก็บรวบรวมไว้เป็นสถิติ ต่อมาภายหลังได้ดูเอกสารดังกล่าว พบว่ามีซองกระดาษคล้ายซองจดหมายขนาดเล็กสอดมาในเอกสารดังกล่าวด้วย เมื่อเปิดออกพบว่าข้างในมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยคิดว่าตนเองสามารถรับเงินดังกล่าวไว้ได้ และเข้าใจว่า สำนักวิจัยคงมอบเงินให้เป็นสินน้ำใจกับนักข่าวทุกคน ที่ไปทำข่าวให้ ดังนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึง สรุปว่า การกระทำของพนักงานคนดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับ จริยธรรม ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ.2551 และข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ จึงมีมูลกล่าวหาว่า พนักงานส.ส.ท.คนดังกล่าว กระทำผิดวินัย”
และต่อมาพนักงานคนดังกล่าวได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของส.ส.ท. เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบส.ส.ท. ว่าด้วยข้อปฏิบัติทางวินัย และการดำเนินการทางวินัยของพนักงานและลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริหารส.ส.ท.มีความตระหนัก และมีการเน้นย้ำกับพนักงานในเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตลอดเวลา และยังมีความตระหนักในความสำคัญขององค์กรวิชาชีพ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบติดตามผล และการกำกับดูแลกันเองมาโดยตลอด
ขอแสดงความนับถือ
งานสื่อสารองค์การองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)