ก.แรงงาน หวั่น รง.ฉวยโอกาสเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แจงต้องได้เงินประกัน-ชดเชย
ก.แรงงานเผยเลิกจ้างจากน้ำท่วมกว่า 1.2 หมื่นคน บ.ซันโยฯอยุธยา-โฮยาฯ ลำพูน แจงทำตามกฏหมาย สายด่วน 1546 รองรับเลิกจ้างไม่เป็นธรรม-ต้องการงาน ระบุต้องได้เงินประกันว่างงาน-ค่าชดเชย
วันที่ 9 ธ.ค.54 นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าล่าสุดมีสถานประกอบการที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม 9,532 แห่งใน 10 จังหวัด ลูกจ้าง 480,202 คน จำนวนนี้เปิดกิจการแล้ว 19,147 แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว 513,742 คน
แต่มีผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้าง 11,862 คนในสถานประกอบการ 45 แห่ง 4 จังหวัด คือพระนครศรีอยุธยามีสถานประกอบการเลิกจ้าง 36 แห่ง ลูกจ้าง 9,694 คน ปทุมธานีมีสถานประกอบการเลิกจ้าง 6 แห่ง ลูกจ้าง 1,678 คน ฉะเชิงเทรามีสถานประกอบการเลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 459 คน และสระบุรีมีสถานประกอบการเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ กสร.เข้าไปดูแลให้แรงงานได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมาย คาดว่าเดือน ม.ค.55 ตัวเลขการเลิกจ้างจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายพันคน
“ช่วงวันหยุด 10 -12 ธ.ค.ได้สั่งให้ชุดเฉพาะกิจของกสร.เฝ้าสถานการณ์ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินค่าชดเชยขอให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กสร. เพื่อดำเนินการให้ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมาย”
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่ากรณีบริษัทซันโยเซมิคอนดักเตอร์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประกาศปิดโรงงานพร้อมปลดคนงานกว่า 2,000 คน ว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามกฏหมายแรงงาน โดยให้ลูกจ้างประจำสมัครลาออกก่อนประมาณ 800 คน ซึ่งได้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานล่วงเวลา แม้แต่โบนัสที่จะจ่ายให้ในต้นปี พร้อมกับสิทธิประโยชน์อื่นๆในการเลิกจ้าง
อธิบดี กสร.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไปทำงานที่จังหวัดอื่นที่ไม่ถูกน้ำท่วมชั่วคราว 2-3 เดือน หรือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่มีงานทำก็เข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากมีสถานประกอบการส่วนหนึ่งในโครงการรับเข้าไปทำงานแบบถาวร ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 620 แห่งใน 46 จังหวัด มีตำแหน่งงานรองรับ 76,374 อัตรา และมีลูกจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 13,226 คน ในสถานประกอบการ 108 แห่ง ทั้งนี้ติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ กสร.หรือสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหรือสายด่วน 1546 โดยดูรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกจ.เตรียมตำแหน่งงานไว้กว่า 1.3 แสนอัตรา ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถยื่นความจำนงมายัง กกจ.ซึ่งจะดำเนินการจับคู่ให้ได้ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ แต่จากสถิติผู้ประกันตนที่ว่างงานอยู่ ส่วนใหญ่ยังไม่ประสงค์ทำงานตอนนี้ เนื่องจากต้องการกลับบ้านไปพักผ่อน อย่างไรก็ตาม กกจ.ได้สั่งการให้สำนักงานจัดงานจังหวัดต่างๆจัดมหกรรมนัดพบแรงงานให้มีความถี่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและกลับภูมิลำเนา
วันเดียวกัน พนักงานบริษัทโฮยากลาสดิสค์ จำกัด (โรงงาน 2) 300 คน ได้ชุมนุมกันที่ศูนย์กระทรวงแรงงาน อ.เมืองลำพูน เพื่อติดตามผลการประชุมระหว่างตัวแทนพนักงานบริษัท ผู้บริหารบริษัท และส่วนราชการ กรณีบริษัทเลิกจ้าง 2,000 คน โดยอ้างขาดทุนและประสบภาวะน้ำท่วม แต่สหภาพแรงงานระบุว่าบริษัทมียอดกำไรและมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม แต่ต้องการปลดคนงานเพื่อใช้เครื่องจักรแทนเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทตามนโยบายรัฐบาลปีหน้า
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางบริษัทยังคงยืนยันที่เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย ขณะที่พนักงานยังคงปักหลักชุมนุมขอให้ยุติการเลิกจ้าง
ทั้งนี้ตามกฏหมาย การเลิกจ้าง ลูกจ้างจะได้รับ “เงินประกันการว่างงาน” ไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย ส่วนกรณีสมัครใจลาออกเองจะได้รับเงินประกันการว่างงานไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 30 ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย สำหรับ “ค่าชดเชย” ที่จะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างต้องเป็นอัตราสุดท้ายของค่าจ้างรายวันที่ได้รับ คือทำงานครบ 120 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปีได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน ทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปีได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน ทำงานครบ 6 ปีแต่ไม่เกิน 10ปีได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
หากลูกจ้างประสบปัญหาการเลิกจ้างหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแจ้งที่สวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือโทร.ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1546 .
ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/2011/11/29/พิษน้ำท่วม-ทำว่างงานแล/