ก้าวสู่ปีที่ 6 มูลนิธิปิดทองฯ ยึดศาสตร์พระราชา มุ่งลดเหลื่อมล้ำสังคม
มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เเถลงผลดำเนินงานพัฒนา 5 พื้นที่ต้นเเบบ ก้าวสู่ปีที่ 6 เร่งสานต่อเเนวทางเเห่งศาสตร์พระราชา มุ่งพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ เเก้ไขปัญหา ปชช. ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน
ปี 2553 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้พันธกิจเพื่อจัดการความรู้และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ
โดยมีภารกิจแรก คือ การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมใน จ.น่าน หลังจากพบมีการรุกพื้นที่ตัดไม้เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนกลายสภาพเป็น ‘เขาหัวโล้น’
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยมีรับสั่งว่า “เราทำที่น่านมาเป็น 10 ปี ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น” ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิปิดทองฯ จึงเข้ามาเป็นกำลังหลักในการดำเนินงาน
จากความสำเร็จดังกล่าวเป็นปฐมบทสู่การต่อยอดไปสู่จังหวัดอื่น ๆ มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ จ.อุดรธานี เพชรบุรี กาฬสินธุ์ และอุทัยธานี ซึ่งล้วนมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการมากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความซับซ้อนของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบ ของมูลนิธิปิดทองฯ เป็นอย่างไรบ้าง
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองฯ เปิดเผยในการแถลงข่าวประจำปี 2559 ผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองฯ ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
-ด้านเศรษฐกิจ
การจัดการน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 60 ปี แต่ไม่เคยไม่รัฐบาลใดนำเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ
ซึ่งในแต่ละปี มีฝนตกในประเทศ 7.5 เเสนล้าน ลบ.ม. แต่เก็บกักได้เพียงร้อยละ 10 ที่เหลือปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง ชี มูล และสาระวิน ขณะที่ภาคอีสาน มีฝนตก 2.3 แสนล้าน ลบ.ม. แต่เก็บกักได้เพียง ร้อยละ 2
“เอาส่วนไหนของร่างกายคิดโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาสู่ภาคอีสาน แต่ทำไมไม่คิดว่าจะมีวิธีเก็บกักน้ำที่ตกในภาคอีสานอย่างไร โดยไม่เกิดน้ำท่วม” เขากล่าว และว่าขณะนี้มูลนิธิปิดทองฯ กำลังดำเนินงานอยู่ และเชื่อว่าจะทำให้พื้นที่มีสีเขียวขึ้น หากจัดการน้ำได้ โอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ จะตามมาอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นต้องปรับปรุงดิน และปลูกพืช ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือจึงค่อยขาย อย่าคิดจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา ข้าวโพด จะเสียหายหมด
แต่ไม่ได้แนะนำให้เลิกปลูกข้าวโพด แต่จากเคยปลูกบนดอย ให้ปลูกบนพื้นทีคันนา หรือขั้นบันได วิธีนี้จะทำให้สามารถปลูกข้าวโพดได้ต่อไป และนำป่ากลับคืนมาได้ด้วย ประชาชน 3,800 ครอบครัว จะสร้างรายได้เพิ่มประมาณ 154 ล้านบาท
-ด้านสังคม
กระบวนการจัดการน้ำนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพการเรียนรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน โดยเฉพาะด้านการประกอบอาชีพ โดยการปลูกพืชชนิดใหม่ พระเอกต้องยกให้ พริกซุปเปอร์ฮอท กล้วยเหลืองนวล หรือเลี้ยงหมูเหมยซาน (หมูปิดทองฯ) ช่วยเพิ่มรายได้ และการเกิดอาชีพในพื้นที่ทำให้คนกลับสู่ถิ่นฐาน
ชาวบ้านรวมกลุ่มทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน จากอดีตต้องจ้างคนทำงาน ปัจจุบันใช้วิธีลงแขก ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิปิดทองฯ กระตุกต่อมคิด ให้ดูภูมิปัญญาของบรรพบุรุษว่าทำมาอย่างไร นำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง และต่อยอดไปถึงการรวมกลุ่มกันเอง ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกลุ่ม 33 กองทุน ยอดเงิน 36 ล้านบาท
-ด้านสิ่งแวดล้อม
รณรงค์ลดการใช้พื้นที่ป่า นำป่าคืนมาได้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการปลูกป่าตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล สามารถคืนป่าได้ 8.7 หมื่นไร่ และเกิดความร่วมมือสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่ร่วมปลูกป่ามากกว่า 7.5 ล้านต้น ในพื้นที่ 8 หมื่นไร่ โดยเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ เเละป่าใช้สอย ภายใต้หลักการนำป่าเศรษฐกิจเป็นกันชนเพื่อไม่ให้บุกรุกป่าอนุรักษ์
(ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ)
นั่นคือความสำเร็จในการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองฯ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 5 ปีต่อไป (พ.ศ.2559-63) ม.ร.ว.ดิศนัดดา บอกว่า จะต้องดำเนินงานให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อธิบายให้ข้าราชการเข้าใจ จนกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลนำไปปฏิบัติ
พร้อมคาดหวังในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการช่วยผลักดันโครงการต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริ แต่ต้องเข้าใจ เชื่อ และศรัทธา ซึ่งจะเกิดความเชื่อได้ต่อเมื่อลงพื้นที่และได้สัมผัสกับชุมชน สอบถามชาวบ้าน และศรัทธาวิธีการถูกต้อง เกิดประโยชน์ และวัดผลได้จริง
“คณะกรรมการมูลนิธิปิดทองฯ ให้ความเห็นชอบในการวางแนวทางของมูลนิธิเข้าสู่ระบบการบริหารของประเทศ ต่อยอดการพัฒนาต้นแบบ ผลงาน และรูปธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ชุมชน และสถาบันการศึกษา”
เขากล่าวต่อว่า จะให้ความสำคัญในการแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ หัวใจสำคัญ คือ การน้อมนำหลักการทรงงาน ‘ระเบิดจากข้างใน’ ซึ่งเป็นแก่นการพัฒนาเชิงพื้นที่
โดยให้ประชาชนคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบปัญหา และความต้องการทุกบ้าน อย่างน้อยร้อยละ 70-80 และวางแผนแก้ไขและพัฒนาด้วยตนเอง ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือพี่เลี้ยง โดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ
“ให้คนรวยมาลงทำกับชุมชน ถ้าพ่อค้าช่วยให้ชุมชนรวยขึ้นมา ถามว่าชาวบ้านรวย เอาเงินซื้อของของใคร ถ้าไม่ใช่พ่อค้า ฉะนั้นต้องปล้นคนดีไปช่วยคนจน เพื่อคนจนจะได้มีโอกาส เเละคนมีจะได้รวยขึ้น” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว และว่าไม่ใช่คนมีรวยขึ้น โดยเบียดเบียนคนจนให้จนลง ๆ เชื่อว่าหากทำได้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคราชการเริ่มตื่นตัว โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย พยายามทำให้ระบบการบริหารมีการบูรณาการ เเต่ปัจจุบันไม่ค่อยเกิดมากนัก เลขาธิการมูลนิธิปิดทองฯ จึงมีความหวังกับกระทรวงดังกล่าวมาก เพราะมีการทำงานเข้าไปถึงทุกหนเเห่ง
“อปท.มีงบประมาณมาก เเต่ไม่ทำอะไร ไม่ทำตามศาสตร์พระราชา สาเหตุเพราะไม่มีเงินทอน หรือเหนื่อยจึงไม่ทำ”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ยังกล่าวว่า อนาคตมูลนิธิปิดทองฯ จะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมคิดร่วมทำ สร้างการมีส่วนร่วม แต่ต้องบูรณาการกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เราจะลงพื้นที่ทั้งประเทศ ทำแผนการสร้างนักพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เริ่มจากการแลกเปล่ยนความรู้ จัดทำหลักสูตร และใช้การสร้างนักพัฒนาขึ้นมา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนกลาง
***ต้นแบบปิดทองหลังพระ พิสูจน์แล้วว่า การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน ต้องเริ่มจากระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดี และหวังว่าบัดนี้ไปเราจะร่วมกันทำให้งานต้นแบบเหล่านี้กลายเป็นลักษณะงานที่ได้รับการยอมรับและทำกันต่อไปอย่างกว้างขวางทุกหนแห่ง ขยายไปตามจังหวัดทุกหัวระแหง*** .
อ่านประกอบ:'ม.ร.ว.ดิศนัดดา' ชี้จัดการน้ำล้มเหลว ทำเเล้งหนัก ฝนตกปีละ 7.5 เเสนล้านลบ.ม. เก็บได้เเค่ 10%