12 ปีทนายสมชายกับสถานการณ์"อุ้มหาย" เมื่อไม่มีกฎหมายก็ไม่มีความผิด?
มีประเด็นที่ "ต่อยอด" จากคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ในวาระครบ 12 ปีที่หายสาบสูญไป โดยที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นตำรวจ
นั่นก็คือประเด็นการไม่มีกฎหมายเอาผิดกับการกระทำที่เรียกว่า “อุ้มฆ่า-อุ้มหาย”
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ทัศนะเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
กฎหมายอยู่ที่ไหน?
“ที่ผ่านมานับแต่อดีต ยังไม่เคยมีคดีบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล ทนายสมชายจึงเป็นคดีแรกที่สามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล จนถึงขั้นศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2558 แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่เราก็เห็นว่าคดีนี้ได้สร้างคุณูปการกับสังคม ให้ความรู้กับสังคมถึงปัญหา อุปสรรคในการคลี่คลายคดีการบังคับสูญหายในประเทศไทย เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันมีอุปสรรคอย่างไรที่จะเข้าถึงความยุติธรรม”
“จากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา เราเห็นว่ามีปัญหาหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาของการไม่มีกฎหมายคุ้มครองการบังคับสูญหาย ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายก็ไม่มีความผิด ทุกวันนี้กรณีสูญหายอย่างล่าสุดที่ฉะเชิงเทรา (ชายฉกรรจ์อ้างตัวเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติด อุ้มวัยรุ่นอายุ 19 ปีไปจากบ้าน) พนักงานสอบสวนก็ตั้งข้อกล่าวหาผู้ต้องสงสัยที่เป็นตำรวจได้เพียงข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยไม่สามารถตั้งข้อหาลักพาตัวหรือทำให้สูญหายได้”
“ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังนี้ เป็นฐานความผิดที่มีโทษเบามาก และไม่นำไปสู่สิทธิในการรับทราบความจริงของครอบครัว ดังนั้นเราจึงเห็นได้เลยว่าปัญหาและอุปสรรคคือการไม่มีกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เราจะชี้ให้เห็นว่าคดีสมชาย ในระหว่างการต่อสู้คดีไปยังศาลฎีกามีอุปสรรคอะไรบ้าง หรือแม้แต่การศาลมีคำพิพากษาไม่ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในคดี (ไม่อนุญาตให้ครอบครัวผู้สูญหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม) คำถามคือแล้วต่อไปถ้ามีคนถูกอุ้มหายอีกจะทำอย่างไร ถ้าอัยการไม่สั่งฟ้องให้ ครอบครัวก็ไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ เลย”
“สำหรับกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ต้องชื่นชมกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งพยายามอย่างมากในการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายมาโดยตลอด แต่ปัญหาสำคัญคือความล่าช้า และก็พูดกันอยู่ว่าความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม ทางกระทรวงยุติธรรมเองก็ให้คำมั่นสัญญากับสังคมมาโดยตลอดมาว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายลำดับต้นๆ ที่จะต้องถูกผลักดัน แต่จนวันนี้ก็ไม่รู้เลยว่ากฎหมายไปอยู่ที่ไหน”
“ตัวร่างกฎหมายที่ทำประชาพิจารณ์ไปแล้วก็ถือว่าเป็นร่างที่ดี เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายร่างที่จะออกมาจริงๆ จะถูกปรับแก้อีกหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือร่างกฎหมายนี้ตัองสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและบังคับสูญหายของสหประชาชาติ จึงจะถือว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองได้จริง แต่ก็อย่างที่บอกว่า วันนี้ยังไม่ทราบเลยว่ากฎหมายฉบับนี้อยู่ขั้นตอนใด”
“ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าทำไมถึงล่าช้ามาก เพราะตามขั้นตอนปกติ เมื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบหรืออนุมัติหลักการแล้ว ก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นก็ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยทาง สนช.ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา เราก็เสนอว่าเมื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ต้องเปิดให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย หรือครอบครัวที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย เพื่อจะได้พิจารณาให้กฎหมายออกมาครบถ้วน สมบูรณ์ และรอบด้านมากยิ่งขึ้น”
“แต่ว่าวันนี้เท่าที่ทราบจากกระทรวงยุติธรรม กฎหมายฉบับนี้ส่งให้คณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว จนมาวันนี้ก็เกือบจะปีหนึ่งแล้ว เราก็ไม่รู้เลยกฎหมายไปถึงไหน ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากที่รับฟังเสียงประชาชนไปแค่ไหน”
“อันนี้ก็จะขอเรียกร้องไปยังกระทรวงยุติธรรม ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราดูแลและเรากังวลในเรื่องของข้อร้องเรียนการทรมานและการสูญหาย เพราะยังมีอยู่ ในเรื่องเดิมๆ ที่กรรมการสิทธิฯทำไว้ เรื่องการสูญหาย ก็ไม่สามารถคลี่คลายคดีได้ กรณีบังคับสูญหายใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองมันก็ยังเป็นอุปสรรคของครอบครัวที่จะเข้าถึงความยุติธรรม”
4 ประเด็นห้ามละเลย
ในแง่ของกฎหมายที่จะออกมาแก้ไขป้องกันปัญหาการอุ้มฆ่า อุ้มหาย มีมุมมองที่น่าสนใจจาก คิงสลีย์ แอบบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ โครงการเอเชีย-แปซิฟิค ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ
“ในมุมมองของไอซีเจ คิดว่ากฎหมายข้อนี้ต้องถูกผลักดันออกมาให้เร็วที่สุด โดยจากคำพิพากษาของศาลฎีกาเรื่องคุณสมชายที่เพิ่งจบไป สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลสูญหาย 2.บัญญัติให้มีกฎหมายภายใน ซึ่งตัวกฎหมายภายในนี้จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญา”
“ไอซีเจ ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทยว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเพื่อที่จะให้สัตยาบัน นี่ก็เป็นประเด็นแรกที่รัฐบาลบอก และประเด็นที่สองก็คือรัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายภายในประเทศ อย่างที่สื่อมวลชนก็ทราบว่าอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จุดยืนของ ไอซีเจ คือมีความยินดีเป็นอย่างมากสำหรับความพยายามหรือว่าความก้าวหน้าของรัฐบาล”
“ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ตัวพระราชบัญญัติ ถ้าถูกนำมาเป็นกฎหมายภายใน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาป้องกันการอุ้มหาย ประการแรกคือ ทำให้การอุ้มหายเป็นฐานความคิดทางอาญา ประการที่ 2 คือการนิยามว่าถ้อยคำอุ้มหาย คือในกฎหมายจะมีนิยาม สิ่งสำคัญคือนิยามระหว่างกฎหมายภายในประเทศ กับอนุสัญญาต้องมีทิศทางเดียวกัน ประการที่ 3 คือ จะต้องระบุให้มีโทษ ซึ่งโทษตรงนี้ต้องสะท้อนให้เห็นถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดไม่ใช่เป็นโทษเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องสะท้อนให้เห็นถึงการความร้ายแรง ทาง ไอซีเจ ได้เห็นร่างล่าสุดของกฎหมายไทย บอกว่าให้จำคุกตลอดชีวิต”
“ประการสุดท้ายที่จะต้องทำคือ กฎหมายจะต้องยอมรับถึงสิทธิของเหยื่อ ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวของเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่ได้รับการเยียวยา สิทธิที่จะได้รับการแจ้งถึงความคืบหน้าคดี และสิทธิที่จะเข้าถึงความจริง สิ่งที่ผมอยากจะเรียนก็คือว่าทางเรามีความยินดีที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่จะดำเนินการเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยภายในประเทศที่ออกไปมันจะต้องอยู่ในระดับที่ดี มีคุณภาพ แล้วก็สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคี”
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อังคณา นีละไพจิตร
2 เหยื่อถูกบังคับให้สูญหายจากทั่วโลก
* หมายเหตุ : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26