12 ปีทนายสมชาย...นักสิทธิจี้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ชื่อของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในวันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (12 มี.ค.2547) กลายเป็นคดีบังคับบุคคลให้สูญหายอันลือลั่นของเมืองไทย และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
คดีนี้เป็นคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ “คดีอุ้มหาย” คดีแรกที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล โดยอัยการยื่นฟ้องตำรวจ 5 นายฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และโดยใช้กำลังประทุษร้าย
เกือบ 12 ปีตั้งแต่วันที่ทนายสมชายหายตัวไป ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน (พิพากษาเมื่อ 29 ธ.ค.2558) ทำให้คดีอุ้มหายที่สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นในสังคมไทยคดีนี้ ยังคงเป็นปริศนามืดดำต่อไป ว่าใครคือผู้กระทำผิด
ยุติธรรมบกพร่อง
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวบนเวทีอภิปรายเรื่อง “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายว่า คดีนี้ถือว่าเป็นการสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยในการคลี่คลายคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย และทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการดำเนินคดีที่กระบวนการยุติธรรมไม่อาจคืนความเป็นธรรมให้เธอได้ อังคณา ยังเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการกระทำที่เรียกว่า “อุ้มฆ่า-อุ้มหาย” เพราะคดีทนายสมชายก็เป็นการยี่นฟ้องในข้อหาข้างเคียง และยากต่อการพิสูจน์ โดยเฉพาะหากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
กฎหมายที่ อังคณา พูดถึงคือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งมีการยกร่างและทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไปแล้วข้ามปี ทว่าล่าสุดกลับยังหยุดนิ่งอยู่ในชั้นคณะรัฐมนตรี
รื้อคดีทนายสมชาย
ในเวทีเดียวกัน นักสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศยังร่วมอภิปรายอย่างเคร่งเครียด เพราะในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว การอุ้มหายถือเป็นอาชญากรรมพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อสังคม รวมไปถึงหลักนิติธรรม เพราะผู้กระทำเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
ปิยนุช โคตรสาร รักษาการผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรระดับโลกที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า แอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และรัฐบาลไทยลงนามให้ความเห็นชอบมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายและครอบครัวได้รับความจริงและความยุติธรรม อีกทั้งต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายทุกกรณี
คิงสลีย์ แอบบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ โครงการเอเชีย-แปซิฟิค ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ มองว่า กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย รัฐบาลไทยต้องสืบหาความจริงต่อไป แม้ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องกลุ่มตำรวจที่ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ไอซีเจขอเสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ดำเนินการติดตามคดีทนายสมชาย 3 ประการ คือ 1.ให้ทบทวนหลักฐานทั้งหมดใหม่อีกครั้ง ทั้งการสอบสวนพยานและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงบันทึกการใช้โทรศัพท์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง 2.แฟ้มคดีเดิมของทนายสมชายที่จะถูกทบทวนใหม่ ต้องกระทำโดยฝ่ายที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระเท่านั้น และ 3.การสอบสวนทุกขั้นตอนควรเปิดเผยสู่สาธารณะ
“ที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นเรื่องความผิดต่อเสรีภาพ รวมทั้งการปล้นทรัพย์ของจำเลยทั้ง 5 คน ซึ่ง 5 คนนี้ไม่เคยถูกตั้งข้อหาเรื่องการอุ้มหายเลย เพราะว่าโดยสภาพมันไม่มีข้อหานี้ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548 ดีเอสไอได้สอบสวนเรื่อยมาจนถึงวันนี้ คดีก็ยังไม่จบ เพราะว่าการสอบสวนมันสิ้นสุดไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าคุณสมชายไปไหน ที่ผ่านมาเวลา 12 ปีที่รอคอยกันมา สุดท้ายมันก็หาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ ผลมันก็เป็นที่น่าเสียใจมากๆ ครอบครัวของคุณอังคณา และตัวคุณอังคณาเองก็ได้รับการแจ้งจากดีเอสไอว่า สอบสวนแล้วสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว พวกเขาก็อยู่ในสภาพที่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งทางด้านกฎหมายเองแล้วก็เรื่องส่วนตัวในฐานะสมาชิกครอบครัว ไม่รู้จะหันไปทางไหน ไม่รู้จะพึ่งใคร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
“ตอนนี้ดีเอสไอควรทำ 3 สิ่งคือ อันดับแรก ควรทบทวนหลักฐานทั้งหมดที่มีอย่างละเอียด และดูว่ามีความจริงอะไรที่ยังถูกซ่อนไว้ สอง ถ้าเป็นไปได้ ดีเอสไอควรทบทวนการสอบสวนของตัวเองอย่างอิสระอีกครั้ง นำผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีเข้าม เพื่อตรวจสอบอย่างสดใหม่ว่ามีอะไรที่ยังไม่ถูกทำหรือถูกทำแล้ว แต่ควรจะถูกทำในอีกรูปแบบหนึ่ง สาม คือ ดีเอสไอควรเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าการสืบสวนมีความก้าวหน้าถึงขั้นไหนแล้ว มีผู้ช่วยทางเทคนิคอะไรอีกไหมที่จะมีประโยชน์ มีพยานที่ต้องสัมภาษณ์ซ้ำอีกครั้งใหม่ มีอะไรที่สังคมจะช่วยได้ไหม ควรเป็นการเปิดเผยต่อครอบครัวว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหนแล้วตลอดหลายปี”
12 ปีที่ (ไม่) ว่างเปล่า
ด้านมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนไทยอย่าง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า คดีทนายสมชายกำลังสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในด้านการสืบสวนสอบสวน เพราะมีข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดเจนว่าการหายตัวไปของทนายสมชาย เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง แต่การนำคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งใช้เวลานานถึง 12 ปี สุดท้ายไม่สามารถดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ส่วนข้อหาที่แจ้งแก่กลุ่มตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย เป็นข้อหาเล็กน้อยมากหากเทียบกับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ทนายสมชายปฏิบัติหน้าที่ของเขาในฐานะทนายความเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ต้องหากลุ่มหนึ่งจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ต้องหาที่ถูกทรมานแล้วก็อ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มเดียวกับที่ถูกดำเนินคดีอุ้มทนายสมชาย แต่ใช้เวลา 12 ปี ทั้งกระบวนการศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สรุปสุดท้ายไม่มีผู้กระทำความผิด ถือเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่ากระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบวนไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้เพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อว่ากลุ่มบุคคลนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้ทนายสมชายหายไป”
“ขณะที่ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายของทนายสมชาย เป็นข้อหาเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์นี่ตกไป เพราะว่าสุดท้ายเจอรถ ก็เลยไม่มีในลักษณะของการปล้นทรัพย์ ส่วนการกักขังหน่วงเหนี่ยว มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี นายตำรวจที่ถูกตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักขังหน่วงเหนี่ยวในศาลชั้นต้น สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้อง ศาลฎีกาก็เช่นกัน เท่ากับว่าทั้งกระบวนการ 12 ปี เราไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ศาลเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเลย” พรเพ็ญ ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คำอวยพรและให้กำลังใจจากบุคคลต่างๆ ที่ร่วมกันเขียนส่งให้อังคณา นีละไพจิตร
2 เหยื่อที่ถูกอุ้มหาย ทั้งไทยและต่างประเทศ