ชาวบ้าน ตวอ. สรุปบทเรียนภัยพิบัติ “ตั้งกองทุนเอง” แทนรอรับสงเคราะห์
พอช.จัดเวทีสรุปบทเรียนน้ำท่วม เร่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง-จัดการตนเอง เพื่อรับมือปัญหาอนาคต ชาวบ้านแนะตั้งกองทุนภัยพิบัติตำบลช่วยกันเอง
วันที่ 9 ธ.ค.54 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัด “เวทีสรุปบทเรียนการฟื้นฟูการจัดการภัยพิบัติ สู่การจัดการตนเอง ภาคตะวันออก” เพื่อสะท้อนการแก้ไขวิกฤตน้ำท่วม สรุปบทเรียนและวางจังหวะก้าวทำงานร่วมกับท้องถิ่น เครือข่ายในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยมีตัวแทนชาวบ้านจาก ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ต.ดอนฉิมพลี ต.บางน้ำเปรี้ยว ต.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ตาก จันทบุรี สระแก้ว ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และตัวแทนคนคนจนเมือง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ เข้าร่วม
นายธีระพงษ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้จัดการภาคตะวันออก พอช. กล่าวว่าจากการลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่ ความทุกข์ชาวบ้านที่เกิดจากน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่ความทุกข์ธรรมดา แต่ครอบคลุมทุกเรื่อง ขณะที่อีกไม่ถึง 5 เดือนข้างหน้าฤดูฝนกำลังจะมา ซึ่งไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นอีก จากประสบการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จึงมีการตั้งคำถามกันว่าต่อไปการจัดการภัยธรรมชาติจะตกอยู่ในมือของใคร รัฐหรือชาวบ้าน สิ่งที่สูญหายไปทั้งพืชผลการเกษตร ต้นไม้ที่ตายไปจะเรียกกลับคืนมาอย่างไร ดังนั้นการสรุปบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในอนาคตโดยชุมชนเป็นเรื่องสำคัญต้องทำให้เป็นรูปธรรม
“ถ้าชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง บางพื้นที่น้ำอาจไม่ท่วม ยกตัวอย่าง ปริมณฑล กรุงเทพ ที่มีระบบการจัดการตนเองน้อยเกินไป บางคนมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะตัวเอง วันนี้ชาวบ้านมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหารุนแรงเบาบางลงหรือไม่ให้เกิดขึ้นอีก ถ้าชุมชนไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็ง จะต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนที่ผ่านมา วิธีคิดที่รอให้คนอื่นมาช่วยยังมีอยู่มากในสังคมไทย ถ้ารอคนอื่นมาจัดการให้ความเดือดร้อนก็จะไม่มีที่สิ้นสุด”
นายเจษฎา มิ่งสมร คณะประสานงานองค์กรชุมชนภาคตะวันออก กล่าวว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับชุมชนมีหลายด้าน มีทั้งความร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แต่ภาพรวมชุมชนที่ประสบภัยหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบทพบว่ารักกันน้อยลงเห็นแก่ตัวมากขึ้น สนใจเรื่องราวในชุมชนท้องถิ่นน้อยลงแต่สนใจเรื่องราวพวกพ้องของตนเองมากขึ้น อีกทั้งช่วยเหลือตัวเองน้อยลงแต่คิดพึ่งพาคนอื่น รวมทั้งปล่อยปละละเลยทรัพยากรท้องถิ่น เอาทรัพยากรรุ่นลูกรุ่นหลานมาใช้ ซึ่งในอนาคตชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น
นายวิรัตน์ วัฒนากร ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา สะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยชุมชนว่า พื้นที่บางน้ำเปรี้ยวได้รับผลกระทบน้ำท่วม เหมือนที่อื่น มีการสรุปบทเรียนว่าปัญหาของชุมชนคนในชุมชนต้องร่วมกันแก้ไข ชาวบ้านมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ทำงาน เมื่อระดับน้ำลดลงก็หารือเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กลุ่มสวัสดิการฯชี้ให้ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญจัดการตัวเอง ความเข้มแข็งจะทำให้ชุมชนอยู่ได้ ไม่ใช่รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการอย่างเดียว
“ระยะยาวชาวบ้านกำหนดการแก้ไขปัญหาร่วมกันว่าจะทำอย่างไร มีการทำแผนที่ทำมือระดับตำบล เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าสภาพพื้นที่ในตำบลเป็นอย่างไร แบ่งบทบาทการทำงานให้ชัดเจน ให้ความสำคัญกับข้อมูลโดยคนในตำบลต้องเป็นคนกำหนดร่วมกัน มีการจัดตั้งกองทุน สร้างทุนภายในชุมชน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเบื้องต้น คนในตำบลต้องกำหนดว่าต้องการอะไร ถ้าคนในพื้นที่ไม่นำเสนอปัญหาที่แท้จริง ความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ไม่ตรงตามความต้องการ” ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนดอนฉิมพลี กล่าว .