กสทช.ชี้ชะตากรีนเวฟ 14ธ.ค.- เรียก วชช.ลงทะเบียนยืดอายุก่อน ก.พ.55
ร่างแผนแม่บทกระจายเสียง-โทรทัศน์เข้าบอร์ดใหญ่ กสทช. 14 ธ.ค.คาดคลอดใช้ไตรมาสแรกปี 55 พร้อมแผนบริหารคลื่นและโทรคมนาคม เรียกวิทยุชุมชนลงทะเบียนยืดทดลองออกอากาศ 300 วันภายใน ก.พ
วันที่ 9 ธ.ค. 54 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเล็ก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)ได้ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดใหญ่วันที่ 14 ธ.ค. หากได้รับความเห็นชอบคาดว่าจะจัดประชาพิจารณ์ต้นปี 55 ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี พร้อมๆกับแผนบริหารคลื่นความถี่ที่ผ่านบอร์ดไปแล้ว และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง
“ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มี 7 ยุทธศาสตร์ 1.การอนุญาตใช้คลื่นและประกอบกิจการ 2.การกำกับเนื้อหาการใช้คลื่นวิทยุและการแข่งขัน 3.การคุ้มครองผู้บริโภค 4.การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ 5.การพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ 6.การเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบดิจิตอล 7.การบริหารจัดการ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจะใช้ในช่วงปี 55-59 ถือเป็นแผนแม่บทฯ ฉบับแรกของไทย”
ส่วนกรณีการต่อสัญญาให้กรีนเวฟ เอฟเอ็ม 106.5 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่นั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่าต้องรอมติบอร์ดใหญ่ 14 ธ.ค. และการที่ กสทช.เรียกคืนคลื่น 1ปณ.ก่อน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงาน อย่างไรก็ตามวันที่ 13 ธ.ค.บอร์ดชุดเล็กจะหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นความถี่เพื่อนำไปสู่การพิจารณาออกใบอนุญาตชั่วคราว ทั้งนึ้กฏหมายเปิดช่องให้ กสทช.สามารถนำคลื่นความถี่กลับมาประมูลเพื่อจัดสรรใหม่
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า กรณีที่ กสทช.มีมติขยายเวลาทดลองออกอากาศของวิทยุชุมชน 6,601 สถานี ออกไปอีก 300 วันจากกำหนดเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 10 ม.ค.55 นั้น ผู้ประกอบการรายเดิมจะต้องมาลงทะเบียนภายในวันที่ 27 ธ.ค. 54 – 29 ก.พ. 55 ณ สำนักงานเขต กสทช. 14 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้จะมีการลงพื้นที่แต่ละภูมิภาคเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนวิทยุชุมชนในท้องถิ่นเรื่องการจัดสรรคลื่น เวทีแรกดำเนินการแล้วที่ จ.ตรัง ครั้งต่อไป 22 ธ.ค. 54 ที่เชียงใหม่ 12 ม.ค.55 ที่ขอนแก่น และ 24 ม.ค. 55 ที่กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการ แบ่ง 3 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะ ประกอบด้วย กิจการสาธารณะเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา คุณภาพชีวิต, กิจการสาธารณะเพื่อความมั่นคง และกิจการสาธารณะเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน 2.ใบอนุญาตกิจการบริการชุมชน โดยต้องเป็นประโยชน์ต่อชุมชน 3.ใบอนุญาตกิจการทางธุรกิจ ประกอบด้วย ใบอนุญาตประกอบกิจการระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น.