ทั่วโลกร่วมลงชื่อเกือบ 2 ล้านคน รณรงค์ลดใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงสัตว์
วันสิทธิผู้บริโภคสากลผุดแคมเปญ “เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา” ลดการใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ทั่วโลกรณรงค์ผ่านเว็บไซต์แล้วเกือบ 2 ล้านคน ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ถึงทุกบริษัท ให้ตรวจสอบแหล่งที่มา หลังพบยังไม่มีมาตรการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี สหพันธ์ผู้บริโภคสากล จัดให้เป็น วันสิทธิผู้บริโภคสากล โดยในปีนี้ให้ความสำคัญในเรื่องอาหารปลอดภัย จึงได้ร่วมกันรณรงค์ทั่วโลก “เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เพื่อลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร
โดยเว็บไซต์ต่างประเทศ THUNDERCLAP เปิดให้คนทั่วโลกร่วมลงชื่อรณรงค์ออนไลน์ เพื่อผลักดันให้ใช้เนื้อสัตว์ไม่มียาปฏิชีวนะ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2559 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงชื่อทั่วโลกประมาณ 1.8 ล้านคน
สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สร้างแคมเปญผ่านเว็บไซต์Change.org เพื่อรณรงค์ให้เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารเช่นกัน ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อแล้ว 249 คน จากเป้าหมาย 500 คน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Saree Aongsomwang ตอนหนึ่งระบุถึงข้อเรียกร้องที่มีถึงทุกบริษัทในประเทศไทยที่ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ภายหลังจากรัฐสภายุโรปเตรียมออกกฎหมายจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญ มีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยามากกว่าเสียชีวิตจากโรงมะเร็ง
โดยห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ และโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่จำเป็นต้องใช้ในคนที่สำคัญ ห้ามการขายยาปฏิชีวนะทางอินเตอร์เน็ตหรือออนไลน์ โดยมีเป้าหมายลดการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารของมนุษย์ และหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ในรัฐสภายุโรป
สำหรับข้อเรียกร้องมีดังต่อไปนี้
1.ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค
2.ขอให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
3.ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล เปิดเผยว่า แมคโนนัลด์มีสาขาใน 100 ประเทศทั่วโลก แสดงจุดยืนที่ชัดเจนใน 2 ประเทศ เพียงในสหรัฐอเมริกา และแคนาดาเท่านั้น โดยให้คำมั่นว่า แมคโดนัลด์อเมริกาจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ.2560 ขณะที่แมคโดนัลด์แคนาดาจะทำเช่นเดียวกันในอีก 1 ปีต่อมา
นอกจากนี้ บริษัท ซับเวย์ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในสหรัฐฯ โดยจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ.2559 เนื้อไก่งวงปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ.2562 และเนื้อวัว เนื้อหมูที่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ.2568 แต่ใช้นโยบายดังกล่าวเพียง 1 ใน 111 ประเทศ ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่เท่านั้น ขณะที่เคเอฟซีไม่แสดงจุดยืนใด ๆ
“3 บริษัทนี้ มีร้านอาหารในเครือรวมกันกว่า 1 แสนสาขาทั่วโลก นั่นแสดงถึงอิทธิพลที่บริษัทมีต่อตลาดสินค้าเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นโยบายของบริษัทสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในการเกษตรได้ เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้น ทั้งการใช้อย่างไม่จำเป็นและเกินความจำเป็น โดยมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี และมีการติดเชื้อชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1แสนคน มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย แซงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ยาปฏิชีวนะตัวเก่าที่เคยใช้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ผู้ป่วยบางรายต้องเปลี่ยนใช้ยาตัวใหม่ซึ่งมีราคาแพงมาก เชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียารักษาที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้นและโอกาสเสียชีวิตสูง ผลเสียต่อไปหากเชื้อชนิดนี้แพร่ไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นและเกิดการระบาดในชุมชน จะมีผลทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาดมากขึ้น นอกจากนี้ เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่นทำ ให้ปัญหาการดื้อยาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนี้ .