วิรไท สันติประภพ: ปัจฉิมกถา “อาจารย์ป๋วยในสายตาคนรุ่นหลัง”
ในระยะ ข้างหน้านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐเศรษฐกิจต้องสร้างเครดิตและ Faith หรือศรัทธา เพื่อความน่าเชื่อถือในมุมประชาชน ถ้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจขาดความน่าเชื่อถือ หรือไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ยากที่เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใหม่ๆ หรือปฏิรูปประเทศให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง
“สำหรับผมแล้วไม่มีโอกาสได้พบอาจารย์ป๋วย ไม่มีโอกาสได้เรียน หรือกับอาจารย์ป๋วย แต่ผมถือว่า เป็นคนหนึ่งที่โชคดี ที่ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากงานที่อาจารย์ได้วางรากฐานไว้ ครูบาอาจารย์ของผมหลายท่านที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักเรียนที่อาจารย์ป๋วยสนับสนุน หาทางให้ไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก และกลับมาสร้างคณะให้มีความเข้มแข็ง...
นอกจากนี้ผมยังได้รับประโยชน์จากที่ได้เข้ามาทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านได้วางรากฐานไว้อย่างมั่นคง ทั้งบุคลากร องค์ความรู้ กรอบกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด คือมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรม อาจารย์ป๋วย ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย แนวคิดของท่านยังทรงคุณค่าและทันสมัย แม้บริบทในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากก็ตาม แต่เราสามารถเรียนรู้และนำแนวคิดหลักการของท่านมาประยุกต์ใช้ในหลักการทำงานและหลักการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างดี”
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ในสายตาคนรุ่นหลัง” ในงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีโอกาสเข้ามาบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ดร.วิรไท กล่าวถึงความจำเป็นในการสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ในสายตาประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่ธนาคารกลางเท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานของรัฐอีกหลายหน่วยงาน
"ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ยินเสียงบ่นบ่อยครั้งว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถต้านทานอำนาจทางการเมืองที่มุ่งทำนโยบายประชานิยมที่ไม่ถูกไม่ควร หรือมุ่งทำนโยบายที่แก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งเป็นปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ไม่สามารถยกศักยภาพประเทศได้ในระยะยาว การดำเนินนโยบายเช่นนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการเติบโตต่ำลง เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องมาหลายปี เรายังมองไม่เห็นทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ประชาชนมีหนี้สินระดับสูง ขณะที่รายได้ยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างเท่าทัน
หากเศรษฐกิจไทยยังคงเดินไปในลักษณะนี้ และไม่มุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ คนไทยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเราอาจประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคต
ช่วงที่อาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้ว่าการแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ท่านยืนหยัดบนหลักการของความถูกต้อง กล้าหาญให้ความเห็นขัดแย้ง ไม่ยอมทำความต้องการผู้มีอำนาจทางการเมืองหากเห็นว่า สิ่งนั้นไม่ถูกไม่ควร การยึดถือหลักการของความถูกต้องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือจากประชาชน"
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ความน่าเชื่อถือคือหัวใจ ดังที่อาจารย์ป๋วย เคยกล่าวไว้ว่า
“หลักการธนาคารกลางก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่วไป คือเครดิต Faith คือ ความเชื่อถือซึ่งกันและกันทั้งภายในและภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้ว เลิกพูดเรื่องการธนาคารได้”
คำพูดสั้นๆ ของอาจารย์ป๋วย มีความหมายที่กว้างไกลมาก ในระยะข้างหน้านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐเศรษฐกิจต้องสร้างเครดิตและ Faith หรือศรัทธา เพื่อความน่าเชื่อถือในมุมประชาชน ถ้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจขาดความน่าเชื่อถือ หรือไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ยากที่เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใหม่ๆ หรือปฏิรูปประเทศให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง
ความน่าเชื่อถือ จะต้องมาจากยึดถือหลักความถูกต้อง และมองประโยชน์ประเทศเป็นพื้นฐาน ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้อย่างเท่าทัน สร้างความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ
การสร้างความสมดุล และภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น
ประเด็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือการสร้างความน่าเชื่อถือ และการยอมรับจากภายนอกประเทศ อาจารย์ป๋วย มองว่าประเทศไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ต้องเรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์ การค้าการลงทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะโลกจะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น
อาจารย์ป๋วย เคยเขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า
“ประเทศผมควรมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และประเทศเล็กควรร่วมมือร่วมใจออกความเห็นให้เป็นประโยชน์กับพวกเราเอง การร่วมมือกันอย่างสนิทสนมยิ่งขึ้น และจะได้มีการปรึกษาหารือกันเป็นงานประจำ รวมทั้งจะพยายามประสานงานซึ่งกันและกันในด้านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย ความสนิทสนมระหว่างประเทศเล็กต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นนี้ คงจะเป็นประโยชน์ในแต่ละประเทศ”
สมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เป็นผู้ริเริ่มและผลักดัน ความร่วมมือระหว่างธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) ปี 2508 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและกัน และสร้างประโยชน์ในการต่อรองประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเวทีโลก ...
การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือการสร้างความสมดุล ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในสภาวะปัจจุบันที่ความผันผวนจากภายนอกประเทศเกิดถี่ขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้น การสร้างความสมดุล และภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น
ช่วงเวลา 12 ปีที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านได้บริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วยความระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจช่วงเวลานั้นขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพการเงินก็อยู่ในระดับดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสม เงินสำรองประเทศอยู่ในระดับเข้มแข็ง
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ป๋วยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศพัฒนาได้อย่างมีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทไม่ผันผวน เงินไม่เฟ้อหรือฝืดเคือง ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาปริมาณเงินให้เป็นไปโดยสมดุลสัมพันธ์กับเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว
อาจารย์ป๋วย เคยกล่าวไว้ว่า
“ดาวประจำเมืองไทย คือดาวพัฒนา และดาวพระเสถียรภาพ ถ้าปล่อยให้พระราคาลอยตุปัดตุเป๋ตามยถากรรม และปล่อยให้ดาวบางดวงแทรกแซงตามอำเภอใจแล้ว คงจะชนพระพระเสถียรภาพสะบั่น แล้วดาวพระพัฒนาจะอยู่ได้อย่างไร”
ท่านยังเคยเขียนอีกว่า
“เราจำเป็นต้องให้บ้านเมืองของเรา เจริญขึ้นชนิดที่มีเสถียรภาพ มีหลายประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ และพยายามที่จะใช้วิธีการต่างๆ ให้ก้าวหน้ารวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงิน ผลการพัฒนาแบบนั้น ก็คือ ในที่สุดไม่สามารถพัฒนาได้ตามความมุ่งหมาย”
ศก.ไทยโตยาก ถ้าไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้า
มิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน หรือ Inclusive Growth
อาจารย์ป๋วย มองเห็นปัญหาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่สูง ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศว่า เกิดการกระจุกตัวอยู่กับเขตเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แต่ชนบทที่ห่างไกลกลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้าในสังคม ไม่เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ จนอาจจะนาไปสู่ความขัดแย้งความเปราะบาง ในสังคมได้
การบริหารเศรษฐกิจมหภาคของท่านจึงไม่ได้มองแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
สำหรับท่านอาจารย์ป๋วยแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคมด้วย ดังคำกล่าวของท่านในหลายครั้งว่า
“นักเศรษฐศาสตร์มักจะเพ่งเล็งแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเช่นนี้จะว่ามีการพัฒนาที่สมบูรณ์มิได้ จำเป็นต้องพิจารณาเลยไปถึงการพัฒนาทางสังคมด้วย”
“ผมรู้สึกเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือ ดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง”
“การที่คนมี มีมากขึ้นนั้นเป็นของดี แต่การที่คนจน จนลงกว่าก่อนนั้นเป็นของเลวแน่ ที่กล่าวมาเมื่อกี้คือเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ปัญหาระยะยาวซึ่งช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนกว้างขึ้นทุกที”
“บ้านเมืองซึ่งชนบทเจริญขึ้น จะมีความสงบสุขได้ดีกว่า บ้านเมืองอันเต็มไปด้วยชนบทที่ยากจน”
ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้า การกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความเปราะบางและความขัดแย้งในสังคม
นอกจากนี้ ในโลกปัจจุบันที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องรายได้เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงความเหลื่อมล้าในโอกาสในการได้รับความรู้และโอกาสในการยกระดับศักยภาพและความสามารถของคนในสังคมอีกด้วย
ประเด็นสุดท้าย ที่จะขอพูดถึงในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญต่อการมองไกลไปในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นท่านอยากเห็นเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้น และคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในเรื่องการมองไกลนี้ มีหลายตัวอย่างที่ท่านได้ทำ อาทิเช่น ท่านได้สร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับประเทศหลายองค์กร เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
ท่านไม่ได้เพียงแต่วางรากฐานให้แต่ละหน่วยงานเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจทางานร่วมกัน เพื่อให้การดาเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศประสานสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีพลัง ดั่งที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
“ในการดำเนินนโยบายการเงิน แบงก์ชาติไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องประสานนโยบายเชิงเศรษฐกิจมหภาคกับหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของประเทศ”
ในเรื่องการวางรากฐานให้แก่หน่วยงานสำคัญ ท่านได้มุ่งสร้างบุคลากรเพื่อรองรับภารกิจของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ ท่านได้เน้นหลายครั้งว่าบุคลากรที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศจะมีเฉพาะความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องมีจริยธรรมและคุณธรรมด้วย จะเห็นได้จากโอวาทที่ท่านเคยให้ไว้กับนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคแรกๆ ว่า
“ธนาคารต้องการวิชาความรู้ความสามารถจากท่านทั้งหลาย...และที่สำคัญไปกว่านั้นที่ธนาคารต้องการจากพวกคุณคือ ความสัตย์ซื่อและความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเชื่อถือกันได้แล้ว ธนาคารนี้ล้มไม่มีทางที่จะทาอะไรได้”
... ความท้าทายที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนไทย ก็คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราจะต้องมองไกล โดยเฉพาะการวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีความต่อเนื่องและชัดเจน ต้องเน้นการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ และระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีคุณธรรม จริยธรรมเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วย
สำหรับมิติที่มองจากฐานะของคนไทยรุ่นหลังที่อยากจะเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนา ซึ่งในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยนั้นท่านเห็นว่า
“สังคมอันพึงปรารถนาที่เราวางเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เป็นสังคมที่น่าอยู่นั้นต้องมีหลัก 4 ประการ คือ (1) สมรรถภาพ (2) เสรีภาพ (3) ความยุติธรรม (4) ความเมตตากรุณา การช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
การที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมที่ปรารถนาได้นั้น จะต้องเริ่มที่แนวทางการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ซึ่งชีวิตของอาจารย์ป๋วยได้แสดงหลักของการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้ในอย่างน้อย 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ การมุ่งหาความสุขจากภายใน วิถีชีวิตของอาจารย์ป๋วยเป็นวิถีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สะสมความรู้ ความดี แต่ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ แม้จะเคยมีผู้มีอำนาจเสนอจะปลูกบ้านหลังใหญ่ให้ท่าน ท่านเลือกที่จะอยู่บ้านหลังเล็ก
“ผมคิดว่าท่านเป็นตัวอย่างของการสร้างความสุขจากภายใน โดยไม่ติดอยู่กับวัตถุนิยม หรือลาภ ยศ สรรเสริญ การสร้างความสุขจากภายในนี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทยยุคปัจจุบันขาดมาก ถ้าคนไทยเห็นความสำคัญของความสุขจากภายในเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้จิตใจมั่นคง ยึดถือความถูกต้อง ไม่ยึดติดกับความสุขที่มาจากวัตถุ ลาภ ยศ สรรเสริญภายนอก ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันในใจต่อสู้กับโลกปัจจุบันที่มีสิ่งเร้าจากภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ที่เรากาลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ไม่ยาก
เรื่องวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สะท้อนถึงธรรมชาติที่แท้จริงแห่งชีวิตนั้น อาจารย์ป๋วย เคยเขียนไว้ในตอนหนึ่งว่า
“เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงไว้ให้โต แต่ลูกโตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่น ๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”
ประเด็นที่สอง ในมุมมองของคนไทยรุ่นหลัง คือ การที่คนไทยต้องคำนึงถึงสังคมให้มากขึ้น ในยุคปัจจุบันคนไทยมีความสนใจในสังคมรอบตัวน้อยลง โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ หรือคนใน Generation Me ที่คำนึงถึงตัวเองหรือโทรศัพท์มือถึอของตัวเองเป็นสำคัญ
“ผมเห็นว่า อาจารย์ป๋วยเป็นต้นแบบของการสร้างคุณค่าให้ชีวิตจากการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการทำงานด้วยจิตอาสาตั้งแต่สมัยที่ท่านเข้าร่วมเป็นเสรีไทย และต้องทางานเสี่ยงชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องจิตอาสานี้เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมจิตอาสาให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกสถาบัน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันทางสังคม จนถึงสถาบันที่ทำงาน โดยต้องร่วมกันส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกัน มองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างพฤติกรรมของตนเองกับสังคม ไม่ใช่แข่งขันกันหรือมุ่งหาเฉพาะประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้นเท่านั้น
ดังคำกล่าวของท่านครั้งหนึ่งว่า
“บุคคลที่มีความสามารถในกิจการค้า หรือทำงานใดก็ตาม ทำให้มีรายได้ส่วนตัวมากมาย ..ถ้าไม่ได้ทำให้ทรัพย์นั้นเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ถือไม่ถูกหลักธรรมะทางเศรษฐกิจ ..การที่บุคคลนำเงินนั้นมาลงทุนทำงานให้เกิดผลประโยชนต่อส่วนรวมได้ปฏิบัติตามถูกตามหลักธรรมะแล้ว เพราะได้ช่วยส่งเสริมให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น โดยบุคคลผู้นั้นไม่ได้รับประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว บุคคลอื่น ๆ ก็ได้รับประโยชน์จากเงินนั้นด้วย...”
บทบาทแบงก์พาณิชย์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม
นอกจากจะต้องคำนึงถึงสังคม และความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสังคมแล้ว อาจารย์ป๋วยเน้นเรื่องคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมความดีที่เป็นสากล คือ การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริต และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยวิถีชีวิตของท่านได้แสดงให้เห็นว่า “ธรรมะ” ได้หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณและตัวตนของท่าน และแปรออกมาเป็นพฤติกรรมโดยรวม เป็นธรรมแบบสากล โดยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนใด ๆ แก่ตนเอง
การใช้ชีวิตที่มีคุณธรรมนั้น สามารถนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตทางธุรกิจด้วย
ตัวอย่างหนึ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยพูดถึงบ่อย ในช่วงที่ท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยท่านเน้นย้าว่าธนาคารพาณิชย์ต้องมีธรรมาภิบาลที่สูงกว่าองค์กรอื่น ๆ เพราะใช้เงินฝากและเงินทุนของประชาชนมาทาธุรกิจดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“นายธนาคารมีกิจรับผิดชอบ ยังระบบเงินเสถียรเพียรเฉลย
กับช่วยรัฐพัฒนาอย่าละเลย ทั้งช่วยเชยทำกำไรให้ธนาคาร
ปฏิบัติเคร่งครัดเกรงกฎหมาย ไม่หนีหน่ายสำเร็จทั้งสามสถาน
ใครแพลงพลิกริกเร้นไม่เป็นการ ควรวางสารขอลาออกบอกตรงตรง”
แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และธุรกิจการเงินในวันนี้ได้มีพัฒนาการมาไกลมาก มีความเข้มแข็งและมาตรฐานการกำกับดูแลที่สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล เรื่องคุณธรรมในการ ทำธุรกิจการเงินยังเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และยังสามารถพัฒนาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน การยึดถือสปิริตของหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาลที่สูงกว่าเพียงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายตลอดไป จนถึงการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคาร ที่พึงส่งเสริมให้การปฏิบัติตามหลักคุณธรรมเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญ
คุณธรรมที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงสำหรับธนาคารพาณิชย์นี้ ยังสามารถใช้ได้กับแนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องเน้นธรรมาภิบาลและความยั่งยืน การที่ธุรกิจหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและสังคมนั้น อาจจะไม่พอ เพราะธุรกิจพึงมีหน้าที่ที่ต้องช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมด้วย
แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว แต่หลักคิดและหลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วย ยังเป็นหลักที่สำคัญของการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เป็นหลักที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ทำให้ชีวิตของเราทุกข์มากขึ้น และต้องแข่งขันกันมากขึ้นจนลืมนึกถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวในสังคม
มองไปข้างหน้าแม้สังคมไทยอาจจะหาปูชนียบุคคลที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะทาให้เศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้นแบบอาจารย์ป๋วยได้ยากขึ้น แต่ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาหลักคิด หลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาถือปฏิบัติแล้ว เราจะเกิดแรงบันดาลใจ และเห็นแนวทางที่จะช่วยกันทาให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน