'ดร.บรรเจิด' ซัดเลือกตั้งบัตรเดียว เหมือนสวมมงกุฏให้นายทุน
ดร.บรรเจิด ซัด ระบบเลือกตั้งบัตรเดียวลิดรอนเสียงประชาชน ทั้งยังจำกัดพื้นที่ของพรรคเล็ก เอื้อพรรคนายทุน ด้านโฆษกกรธ. ยืนยันระบบนี้จะกระตุ้นปชช.มาเลือกตั้งมากขึ้น ยืนยันทุกเสียงเท่าเทียมกัน
วันที่ 10 มีนาคม 2559 ที่ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "หนึ่งคน หนึ่งเสียง บัตรหนึ่งใบ หรือสองใบ”
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวแสดงความเห็นต่อระบบการเลือกตั้งบัตรเดียวว่า ระบบสัดส่วนผสม ทุกเสียงมีความหมาย ระบบนี้เกิดขึ้นมาเพราะระบบที่ใช้เสียงเดียว สัดส่วนมาก (majority) ทำให้คนที่เลือกคนที่ไม่ได้คะแนนสูงสุดตกน้ำ ระบบสัดส่วนจึงเข้ามาแก้ไข เพราะจะนับคะแนนทุกคะแนนเสียงเพื่อจะนำไปคำนวน การมีที่นั่งในสภา ต่อมาระบบบัตรเดียวเป็นการลิดรอนเสียงของประชาชน เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาไทยมีการเลือกตั้งโดยกาเลือกบัตรสองใบ “คนที่รัก พรรคที่ชอบ” คนที่รักเราอาจจะรักคนพรรคนี้ แต่เราสามารถชอบนโยบายของอีกพรรคได้ เพราะฉะนั้นการบีบให้คนเลือกพรรคเดียวจึงเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนได้
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งของเสรีประชาธิปไตย จะต้องไม่ปิดโอกาสของพรรคเล็ก แต่ระบบบัตรเดียว เป็นการปิดโอกาส เพราะพรรคเล็กหากไม่ลงทุกเขตจะไม่มีโอกาสถูกเลือก เพราะทุกเขตที่ลงสมัครจะมีผลต่อการนับคะแนนบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นระบบนี้สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในตัวระบบเอง
"ผมไม่เชื่อว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมายที่พรรคจะแสวงหาคนดีได้ เพราะคนดีของ กรรมการร่างฯ และคนดีของประชาชนไม่ใช่คนเดียวกัน ทั้งยังจะทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น เพราะระบบนี้เลือกทีเดียวได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค" ดร.บรรเจิดกล่าวและว่า ถ้าพรรคการเมืองไทยวันนี้เหมือนตะวันตก ผมจะไม่พูดอะไรเลย แต่วันนี้พรรคการเมือง เป็นของทุนใหญ่ทั้งนั้นแล้วโอกาสพรรคเล็ก พรรคน้อยจะสู้ได้อย่างไร การมีระบบนี้เท่ากับต่อยอด สวมมงกุฎให้นายทุนมากขึ้น ซึ่งไม่มองที่เห็นประชาชน ระบบเสรีต้องไม่ปิดทาง
อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า เราต้องดูสภาพพื้นฐาน ประเทศไทยเป็นอย่างไร และต้องการมุ่งหน้าสร้างสังคมแบบไหน ยกตัวอย่างประเทศใดก็ตามที่มีความแตกแยกของคนในชาติร้าวลึก อย่าใช้การเลือกตั้งแบบออกเสียงสูงสุด เพราะจะนำไปสู่การทำให้สังคมเกิดความแตกแยกมากขึ้น
ขณะที่ ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงถึง บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบจะกระตุ้นให้คนมาใช้สิทธิ์มากขึ้น เพราะทุกคะแนนที่ประชาชนไปหย่อนบัตร มีความหมายไม่สูญเปล่า ที่สำคัญจะกดดันพรรคการเมืองต่างๆ ให้เฟ้นหา คนที่มีคุณภาพ คุณสมบัติ ที่มีความรู้ความสามารถ จริยธรรม ตรงนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรามองว่า บัตรใบเดียว ถ้าคนไม่เลือกตัวแทนจากพรรคนั้นคุณจะไม่สิทธิ์ใดเลยแม้แต่ในระบบบัญชีรายชื่อ นี่คือ ระบบการจัดสรรปันส่วน สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนไทย รวมถึงยังแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ด้วย เพราะถ้าคุณไม่ดี คนไม่เลือก คุณก็ไม่ได้คะแนน
ดร.อมร กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีบัตรเสียค่อนข้างมาก เลยคิดว่า ถ้ามีบัตรใบเดียว เสียก็จะเสียใบเดียวและในช่วงการนับคะแนนหนึ่งกระดานใช้สองคน หากเราใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวก็จะลดจำนวนคนลงไป ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยไม่จำเป็นลงไปได้ รวมทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะช่วยลดความสับสนของประชาชนลงได้ รวมถึงไปกดดันให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องทำตัวดีๆ
ในส่วนของหาคนดี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวมั่นใจว่าจะได้ เพราะใน ร่างรธน.ฉบับนี้ เขียนไว้น่ากลัวมากว่า หากผู้สมัครนั้นมีรอยด่างไม่ว่าจะเป็นคดีอันเกิดก่อนหรือเพิ่งมาแดงหลังจากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถสมัครเข้าได้ หรือหากตรวจพบก็ต้องออกจากหน้าที่ทันที ส่วนว่าจะซื้อเสียงมาก เราไม่ห่วงเพราะตอนนี้โทษของการซื้อเสียงเท่ากับตาย เพราะจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกเลย ไม่มีโอกาสจะเข้าสมัครหรือร่วมการเมืองในส่วนใดได้
"ในการร่างรธน. เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า เราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบ100% ได้ เรายอมรับว่า บางเรื่องมีจุดอ่อน ทุกวันนี้การทบทวนร่างก็ยังไม่เสร็จ แต่มั่นใจว่าระบบนี้ต้องใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันเดียวทำไม่ได้ เรื่องนี้ต้องทำใจ” ดร.อมร กล่าว.
ขอบคุณภาพ illustrated จากhttp://appx.sanook.com/rip/r/w300/ya0xa0m1w0