ใยหิน: นำเข้าลดลง เสียเงินเท่าเดิม ส่วนต่างที่เพิ่มไปไหน
"อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมของที่ไม่มีใครใช้อย่างใยหิน กลับมีราคาขายเพิ่มขึ้น หากใครเป็นเจ้าของบริษัทที่จะซื้อใยหินมาทำสินค้า เขาจะยอมซื้อใยหินในราคาที่สูงขึ้นหรือไม่ ทั้งที่สินค้านี้มีอันตรายต่อสุขภาพและราคาของสินค้าในตลาดก็ไม่เอื้ออำนวยให้ขึ้นราคา"
เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย ( T-BAN) มองว่า นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ยังไม่มีการดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีที่ในท้ายที่สุด กระทรวงสาธารณสุข มีความชัดเจนในเรื่องอันตราย โดยดูได้จากผลการศึกษาของคณะทางานที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลปัจจุบันตั้งแต่มีการรัฐประหารมา ไม่ให้ความสนใจกับการดำเนินการป้องกันอันตรายจากพิษภัยของใยหินในลักษณะที่จะดำเนินการยกเลิกหรือห้ามการนำเข้าใยหิน โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบัน ไม่มีการประกาศนโยบายหรือมาตรการใดใดทั้งสิ้นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้
หากจะวิเคราะห์สาเหตุที่ไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่จะห้ามการนำเข้าใยหินก็น่าจะมี เนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศรัสเซีย ทั้งด้านการทหาร การค้าและการท่องเที่ยว ที่น่าจะเป็นปัจจัยทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจ ที่จะปกป้องอันตรายของประชาชน
นอกจากนี้ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารก็ยังมีข้อจำกัดในด้านการแสดงออกของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ทำให้การแสดงออกในเรื่องกระแสการคัดค้านไม่สามารถเป็นไปได้แบบในช่วงปกติ
การติดตามข้อมูลการนำเข้าใยหินของประเทศไทย พบว่า มีจำนวนลดลงมาโดยตลอด ในปี 2558 นำเข้าที่ 36,513 ตัน และน่าจะมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสังเกต คือแม้ว่าจำนวนใยหินจะลดลง แต่ราคาของใยหินกลับเพิ่มสูงขึ้น ปี 2558 ราคา18,053 บาทต่อตัน ในขณะที่ ปี 2557 เพียง 16,047 บาทต่อตัน (ตามภาพ)
นั่นคือประเทศไทยต้องจ่ายแพงขึ้น ทั้งที่ในหลายประเทศทั่วโลกใยหินไม่มีมูลค่าแล้ว แถมยังก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสียด้วย โดยที่ควรเป็นแล้ว ใยหินจะมีราคาแพงกว่านี้อีกก็ได้ แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นควรจะเป็นภาษีที่จะจ่ายให้รัฐ เพราะรัฐจะต้องจัดการเรื่องปัญหาขยะพิษเหล่านี้ในอนาคต รวมทั้งการรักษาคนไข้โรคใยหิน และค่าใช้จ่ายในการสื่อสารถึงอันตรายจากใยหินเพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไประวังตัวป้องกันตนเอง
น่าแปลกที่ทั่วโลกมีการใช้ใยหินลดลง แต่ราคาใยหินกลับมาเพิ่มขึ้นมากในระยะสองสามปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นถึงประมาณสามพันบาทต่อตัน ทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าใยหิน 659 ล้านบาท ในปี 2558 ที่ผ่านมา เกือบเท่า ปี 2557 ที่จ่ายค่าใยหินไป684 ล้านบาท ทั้งที่ได้ซื้อใยหินลดลงถึง 6,112 ตัน
จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าปริมาณการนำเข้าใยหินน่าจะลดลงอีก หากกระบวนการสื่อสารอันตรายของโรค ใยหินสามารถได้รับการตอบสนองจากประชาชน รวมทั้งการเกิดโรคเชิงประจักษ์ที่น่าจะเริ่มเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป
แต่ประเทศที่ส่งออกมาขายก็คงจะปรับราคาเพิ่มขึ้นไปเนื่องจากผู้ผลิตในไทยยังไม่ยอมเลิกใช้ใยหินประเทศไทยก็ยังคงต้องเสียเงินไปซื้อสารพิษเข้าประเทศ โดยจ่ายเงินปีละกว่าหกร้อยล้านบาท โดยไม่คำนึงค่าใช้จ่ายจากการสูญเสียในอนาคต
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งนอกจากปริมาณนำเข้าและราคาแล้ว การนำเข้าสินค้า asbestos ในกลุ่มที่เป็น asbestos-others กลับเพิ่มมากขึ้นและมีมูลค่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับการนำเข้าใยหินไครโซไทล์ asbestos-chrysotile ซึ่งประเทศที่ส่งสินค้ามานอกจากรัสเซียแล้ว ยังมีอีกเพียงร้อยละ 10 มาจากจีนและคาฆัสสถาน ทั้งนี้ประเทศที่ส่งใยหินไครโซไทล์ asbestos-chrysotile เข้ามาประเทศไทย คือ รัสเซียและบราซิลเพียงร้อยละ 5 ในขณะที่ประเทศบราซิลมีประกาศห้ามใช้ใยหินในเมืองหลวง และ ในการก่อสร้างสนามกีฬาฯฟุตบอลโลก
น่าสนใจว่าราคาส่วนต่างที่เพิ่มมากขึ้นของสินค้าจะไปที่ไหนบ้าง ในวงสนทนาวิชาการใยหิน มีบางท่านกล่าวว่า จะสามารถกลับมาที่บริษัทที่ยังยืนยันการใช้สินค้าใยหินได้หรือไม่ หรือ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการขัดขวางการยกเลิกใยหินหรือไม่ ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ที่อดคิดกันไม่ได้ เพราะใยหินไครโซไทล์เป็นสินค้าที่ตกยุคสมัยแล้ว แต่ยังขายได้ในประเทศที่ไม่สนใจความจริงทางวิชาการและพิษภัยที่มีต่อประชาชน..