นรนิติ เศรษฐบุตร: "ความสำคัญของระบบ ปชต.ไม่ได้อยู่แค่การเลือกตั้ง"
ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ชี้ หัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ระบุการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้งก็สำคัญ เผยการมีองค์กรอิสระเพื่อมาหนุนในการช่วยประชาชนตรวจสอบ
วันที่ 9 มีนาคม 2559 ศาลปกครอง จัดอภิปรายทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี ศาลปกครอง เรื่อง “บทบาทขององค์กรตุลาการและองค์กรอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ณ ห้องสัมมนา ชั้น 11 สำนักงานศาลปกครอง
ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในระบบการเมืองการบริหารสมัยใหม่” ถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องสำคัญในทางรัฐศาสตร์และระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบางครั้งประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารได้ หลังจากที่ฝ่ายการเมืองได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่มีความรู้ความสามารถและเท่าทันนักการเมืองในการตรวจสอบ ซึ่งในอดีตการตรวจสอบฝ่ายบริหารนั้นจะใช้แค่เพียงตั้งกระทู้ถามในสภา มีการอภิปราย และลงมติ ทำให้ที่ผ่านมาวิธีการตรวจสอบดังกล่าวสามารถทำให้รัฐบาลลาออกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
สมาชิกสนช. กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีพ.ศ. 2540 เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งพรรคการเมืองที่เข้มแข็งก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ตรวจสอบได้จึงได้บัญญัติให้มีองค์กรอิสระที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และสร้างความเข้มแข็งทางด้านสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ซึ่งการสร้างให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นหน่วยงานอิสระจึงมีความสำคัญในการเข้ามาช่วยประชาชนในการตรวจสอบ
"ความสำคัญของระบบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แค่การเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญคือหลังการเลือกตั้งนั่นคือการตรวจสอบอำนาจที่ให้กับพรรคการเมืองเมื่อชนะการเลือกตั้ง เพื่อที่จะบอกว่า แม้คุณจะชนะเพื่อเข้าไปบริหารการปกครองแต่คุณไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ"ศ.พิเศษ นรนิติ กล่าว และว่า ระบอบประชาธิปไตยจะดูเพียงแค่เสร็จเลือกตั้งไม่ได้ เพราะผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากปวงชนชาวไทย ที่ผ่านมาในระบอบประชาธิปไตยประชาชนก็ได้ใช้สิทธิในการเสนอหรือถอดถอนนักการเมือง มีการประท้วง ยื่นหนังสือตรวจสอบคัดค้าน เพื่อตรววจสอบการทำงานของรัฐ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก ดังนั้นองค์กรต่างๆที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้จะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ถูกปกครอง นั่นคือประชาชน ในการช่วยย้ำเตือนนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งว่า ชนะนั้นเพื่อได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้บริหาร และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐยืนยันว่าผู้ปกครองไม่มีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และต้องยึดหลักนิติธรรมในการบริหารงานด้วย
ที่มาภาพ:http://www.admincourt.go.th/admincourt/site/08news_detail.php?ids=15195