นโยบายการศึกษาในร่างรธน. ฉบับมีชัย ทำไมจึงล้าหลัง?
นักวิชาการ ติงนโยบายการศึกษาในร่างรธน. มีชัย ล้าหลังกว่า 20 ปี ซ้ำยังขยายความไม่เป็นธรรมสู่สังคมไทย แนะรัฐไม่อาจจัดการหลักสูตรโดยลำพัง ย้ำที่ผ่านมาขนาดมีความร่วมมือยังไม่รอด
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ ห้องประชุม อาคารD Thai PBS ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มช. และองค์กรภาคประชาสังคม จัดเวทีระดมความคิดในประเด็น “การศึกษากับร่างรัฐธรรมนูญ”
รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ร่างรธน.ฉบับนี้ได้ชื่อว่า คุณพ่อรู้ดี ซึ่งวัฒนธรรมคุณพ่อรู้ดี น่ากลัวมาก เพราะจะมองว่า ลูกและเมียเป็นแค่ผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น และประเทศไทยเราก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังถอยหลังไปใช้ในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การโอนคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือของรัฐ หรือแม้แต่เรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานในการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ดร.นงเยาว์ กล่าวถึงร่างรธน.ฉบับนี้เขียนได้ชัดเจนมากว่าการศึกษาต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น และรัฐจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะร่วมมือจัดการศึกษาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ หรือไม่ ดังนั้นกลายเป็นว่า หากรัฐไม่คิดจะทำ องค์กรภายนอกไปร่วมได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ในรธน.ปี 2540 และ 2550 เราคิดถึงเรื่องจะทำการศึกษาใหม่ได้อย่างไร จะขจัดความล้าหลังออกไปได้อย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่า รัฐไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เพียงลำพัง
"เราจำเป็นต้องถ่วงดุลอำนาจทางการศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ โดยการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ นอกรัฐ มีสิทธิ อำนาจมาเป็นผู้ออกแบบและผู้จัดการการศึกษาคู่ขนานไปกับรัฐ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีเขียนไว้อย่างชัดเจน และต่อเนื่องมาถึงรธน.ปี 2550”
ผอ.ศูนย์พหุวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในรธน.ปี 2550 กำหนดให้คนที่จะเข้ามาช่วยจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์สังคม จัดการศึกษาที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับคนไทย ซึ่งมีทั้งหมด 5 องค์ประกอบ ได้แก่
1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.ครอบครัว
3.ประชาสังคม
4.สถาบันศาสนา
และ5.สถานประกอบการเอกชนด้านการศึกษา
สิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มในปี 2545 การให้สิทธิกับภาคส่วนเหล่านี้เพราะเขาจะสามารถสร้างการศึกษาเชิงวิพากษ์ การศึกษาเชิงมนุษย์ คิดอย่างใคร่ครวญ มองเห็นโครงสร้างอำนาจต่างๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้คนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม
"เราให้สิทธิอันนี้เพราะเราคำนึงว่า คุณภาพการศึกษาเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะทำได้โดยรัฐตามลำพัง เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก”
ทั้งนี้ ดร.นงเยาว์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย เป้าหมายในการจัดการศึกษา แม้จะมีส่วนที่เหมือนกัน แต่ก็มีส่วนที่ต่างกันมาก และส่วนที่ต่างนี้เองที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้สร้างเอกลักษณ์ เฉพาะของกลุ่มขึ้นมา เช่น ชุมชนชาวกะเหรี่ยง ก็อยากให้ลูกพูดกะเหรี่ยงได้ รู้จักวิถีและวัฒนธรรมได้ ไม่ใช่ว่ามาเรียนแล้ว ลืมรากเหง้าเดิมไป ไม่มีการบูรณาการ
ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือการสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา คือการเข้าสู่ระบบการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ เรียนรู้ทั้งโลกภายนอกและวิถีดั้งเดิมของตัวเอง ซึ่งเมื่อรัฐนำเอามาเป็นเพียงหน้าที่ของรัฐเท่านั้น รัฐไม่สามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน
"แม้ว่าปัจจุบันรัฐมีหน้าที่ทางการศึกษา 30% ในการจัดการหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งรัฐก็บอกว่า ทำไม่ได้ เพราะครูไม่มีความรู้ นี่ขนาดว่ามีความร่วมมือ ก็ยังประสบปัญหาอยู่ แล้วหากไปอยู่ในมือของรัฐทั้งระบบจะเป็นอย่างไร แบบนี้ทางเลือกในการจัดการศึกษาอยู่ที่ไหน ในเมื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาไปอยู่ในมือของรัฐทั้งหมด”
นอกจากนี้ ดร.นงเยาว์ ยังชี้ให้เห็นว่า รธน.ปี 2540 และ 2550 ได้มองเห็นความไม่เป็นธรรมของการศึกษา จึงได้มีหลักประกันสิทธิการศึกษาของเด็กทุกคน อย่างต่ำ 12 ปี ซึ่งสิ่งนี้เป็นมาตรการที่สำคัญของเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีฐานะยากจนจะได้มีสิทธิในการเรียนรู้ อย่างน้อย 12 ปี และจะนำไปต่อยอดได้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ว่า การศึกษาขั้นต่ำภาคบังคับเหลือเพียง 9 ปีเท่านั้น หากเป็นแบบนี้ ไทยจะถอยหลังไป 20 ปี เพราะหากดูประเทศรอบบ้านของเราไม่มีใครกำหนดการเรียนขั้นตำ่ขนาดนี้ ทุกประเทศมุ่งไปข้างหน้า ซึ่งแบบนี้ความไม่เป็นธรรมทางการศึกษาของประเทศไทยจะขยายตัวอีกหรือไม่
“ เป้าหมาย 9 ปี เขียนชัดเจนว่า ให้รักชาติ มีระเบียบวินัย อ่านออกเขียนได้ การศึกษาต้องทำให้เกิดค่านิยม 12 ประการ ทั้งในม.50 และบทเฉพาะกาล คำถามคือรักชาติหมายความว่า อย่างไง หากลองดูในรธน.ปี 2540 และ 2550 บอกว่า จะรักชาติได้ ต้องทำให้เด็กเป็นพลเมืองที่มีความขยันขันแข็งตามระบบประชาธิปไตย รู้จักสิทธิและหน้าที่ ไม่แค่เป็นคนดี คนดีอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเป็นคนดีที่ยอมจำนนก็สร้างประเทศไม่ได้ และรักชาติอย่างเดียว ตอนนี้เราก็ไม่รู้จักรักอย่างไรแล้ว ร้องเพลงชาติหน้าแถวทุกวัน” ผอ.พหุวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้าย