ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับการปฏิรูปสื่อ
“ผมต้องการย้ำว่าการมีเสรีภาพนั้น เป็นความสำคัญมากกับประชาชนทุกคนและสื่อมวลชนดังนั้นอย่ารำคาญก็แล้วกัน เวลาพวกผมพูดถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน จะตำหนิ ว่ากล่าว ด่าสื่ออย่าสาดเสียเทเสียหรือด้วยภาษาที่รุนแรงอะไรก็ตาม คนวงการสื่อก็รับฟัง และมุ่งมั่นที่จะร่วมกันปฏิรูปสื่อเพื่อประโยชน์การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะแต่ถึงขนาดเรียกร้องให้ปิดกั้นเสรีภาพหรือสร้างเงื่อนไขจำกัดสิทธิ์ เสรีภาพมากเกินไป ก็รับไม่ได้เช่นกัน”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศราwww.isranews.org : จากกรณีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 สถาบันพระบกเกล้าจัดเวทีเสวนา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับการปฏิรูปประเทศครั้งที่ 2 ตอนพลเมืองกับการปฏิรูป โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการปฏิรูปสื่อมวลชน ดังนี้
----
หลักสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สำคัญคือประชาชนจำเป็นต้องมีสิทธิในการแสดงออก (Right to Expression) ซึ่งประกอบด้วยสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) สิทธิที่จะพูด (Right to Speak) และสิทธิที่จะพิมพ์โฆษณา (Right to Print) หากประชาชนขาดการสิทธิดังกล่าวแล้ว ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงการดำเนินงานของรัฐ หรือองค์กรต่างๆในสังคม อาจนำมาซึ่งสาเหตุให้เกิดการคอร์รัปชันหรือปัญหาต่างๆและอาจทำให้รัฐบาลล้มเหลวและเกิดวิกฤติกับประเทศชาติได้
สื่อมวลชนเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารให้แก่ประชาชนได้รับทราบ ดังนั้นการทำหน้าที่ของ “สื่อมวลชน” เพื่อนำเสนอข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงตรง สื่อมวลชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสวงหาข่าวสาร และรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) หากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพก็ไม่อาจนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่การรับรู้ของประชาชนได้ และประชาชนก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับต่างๆได้เช่นกัน
เป้าหมายการปฏิรูปสื่อของอดีต คณะกรรมธิการปฏิรูปสื่อ
เป้าหมายการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ
"เพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ของประชาชน มีมาตรฐาน มีคุณภาพสูงสุด และเป็นที่เชื่อถือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ"
นอกจากเพื่อการรับรู้ข้อข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้านและมีความหลากหลาย เราต้องการยกระดับการทำงานของสื่อมวลชนเป็นแหล่งเรียนที่รู้ที่สร้างสรรค์ ทำหน้าที่ให้การศึกษา ให้การเรียนรู้ เป็นโรงเรียนของสังคม มีส่วนร่วมในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นการปฏิรูปเพื่อสร้างสื่อที่สร้างสรรค์สังคม
การเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1. ด้านเสรีภาพกับความรับผิดชอบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2. ด้านการป้องกันแทรกแซงจากเจ้าของทั้งที่เป็นของรัฐและทุน เพื่อให้สื่อมีความเป็นอิสระ
ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะเวลาพูดถึงสื่อต้องเข้าใจว่าสื่อ เป็นองค์กรทางธุรกิจกับสถานบันที่ให้บริการสาธารณะ มีทั้งผู้ประกอบธุรกิจสื่อกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในปัจจุบันต้องบอกว่าอุตสาหกรรมสื่อและผู้ประกอบธุรกิจสื่อ ทรงอิทธิพลมาก การใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อกำไรทางธุรกิจก็มีอิทธิพลเหนือเรื่องอื่นใด และส่งผลกระทบต่อพื้นที่สาธารณะในสื่อมวลชน รวมทั้งความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 3. มีกลไกกำกับกันเองด้านจริยธรรมสื่อที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ
ในยุคหลอมรวมสื่อต้องทำเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมกัน ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นทศวรรษแห่งการปฏิรูปสื่อเพื่อพลิกบทบาทสื่อมวลชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ประชาชนก็รู้เท่าทันสื่อ ประสานการส่งเสริมสื่อทางเลือก สื่อชุมชน สื่อที่ให้บริการสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและมีคุณภาพอย่างแท้จริง
ร่างรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปสื่อ
อย่างไรก็ตามจากติดตามศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมมนูญปี 2540 และ ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ ซึ่งได้รับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในหลายมาตราที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปสื่อคือ
1.การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
รัฐธรรมมนูญปี 2540 และ ปี 2550 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพไม่ว่าเป็นสิทธิในการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อสารถึงกันด้วยวิธีการอื่นใดของประชาชนเอาไว้ สื่อมวลชนก็คือประชาชนก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รับรองหลักการดังกล่าว แต่ประเด็นที่แตกต่างกันคือ ข้อความตอนท้ายของร่างมาตรา 34 วรรค 1 “..เพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก หรือเกลียดชังในสังคม” และในร่างล่าสุดที่ได้เห็นได้แก้มาเป็น "เสริมสร้างให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ" ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นฯ
แต่ล่าสุดก็ได้รับการยืนยันจากกรรมการยกร่างว่าได้ตัดออกอีกเช่นกัน ดังนั้นก็ต้องรอดูในร่างที่เป็นทางการอีกครั้ง
อย่างไรตามร่างมาตรา 34 การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อป้องกันสุขภาพประชาชน ที่ตัดออกไปและแตกต่างๆจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คือ
"เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนบุคคล,หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน" ที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญนี้
หากร่างรัฐธรรมนูญนี้นำเรื่องความแตกแยกและเกลียดชังมาบัญญัติไว้ในส่วนของการจำกัดสิทธิอีก ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า"การพูด การแสดงความเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาฯลฯ อะไร แค่ไหน ระดับใดจึงจะไม่สร้างความแตกแยกหรือสร้างความเกลียดชัง"ก็อาจเปิดช่องให้มีการออกกฎหมายควบคุมและจำกัดสิทธิของบุคคลได้ โดยอาศัยสาเหตุจากความแตกแยกและเกลียดชัง
หากมีการตัดออกไปจริงก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมดีแล้ว
2. การรับรองคลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคมเป็นทรัพย์กรสื่อสารของชาติ
รัฐธรรมนูญฉบับปี2540และปี2550 ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการเหล่านี้
เพราะเห็นว่าคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สื่อมวลชนใช้ในการนำเสนอข่าวสารสู่ประชาชนรัฐธรรมนูญ จึงให้การรับรองและคุ้มครองความถี่เหล่านี้ให้เป็นของประชาชน
ทั้งนี้ในอดีตนั้นมีความเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพในการใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์และโทรคมนาคมนั้นรัฐเป็นเจ้าของและอยู่ในความครอบครองของรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมไม่ได้ดำเนินกิจการเองแต่ให้เอกชนเข้าประมูลเช่าดำเนินการต่อ ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการให้การบริการข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนเท่าที่ควร
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนไว้ในมาตรา 56 วรรคแรก ย้ายจากหมวดสิทธิมาไว้ในหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญมาก
"รัฐต้องรักษาไว้คลื่นความถี่และสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นทรัพยากรของชาติ(ล่าสุดแก้เป็นอันเป็นสมบัติของชาติ)ให้เป็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน"
การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วยตามที่กฏหมายบัญญัติ
รัฐต้องจัดให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อบตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนจากคลื่นความถี่รวมทั้งกำหนดสัดส่วนขั้นของผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่อยู่ในหมวดสิทธิมาตรา 47 คลื่นความถี่ในการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ประเด็นแตกต่างในเรื่องคลื่นความถี่ของร่างรัฐธรรมนูญนี้กับรัฐธรรมนูญปี 2540,2550
1.ระบุ"ให้เป็นหน้าที่ของรัฐรักษาไว้" และล่าสุดก็ยังอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ จากเดิมคลื่นความถี่ในการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ"ที่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ
2.ปรับลดอำนาจขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระจากเดิม "มีหน้าที่ในการจัดสรรและกำกับการประกอบกิจการ "เป็น" การปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินกิจการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ "อาจตั้งคำถามได้ว่า "การปฏิบัติหน้าที่เพื่อความรับผิดชอบ" รวมความถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยหรือไม่
3.กำหนด"รัฐต้องจัดให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ "จากเดิม" ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นองค์กรอิสระ " ซึ่งอาจกระทบต่อองค์กรและความเป็นอิสระ กสทช.ได้
4.เกี่ยวกับสิทธิประชาชน จากเดิม"ต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ"มาตรา 47 วรรค 3 รธน. 2550 มาเป็น"เป็นการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย ตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งมีน้ำหนักที่แตกต่างกันเยอะ
และเมื่อเปรียบเทียบกับร่าง รธน.ที่ไม่ผ่าน สปช.
มาตรา 50 วรรค 3 ตอนท้าย
"รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
คำว่าสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ"เข้าถึงคลื่นความถี่เพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมคือเป็นเจ้าของคลื่นได้ด้วย แต่พอมาใช้คำว่า "ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วย" มีความหมายที่ครอบคลุมถึงประชาชนหรือชุมชนมีสิทธิเป็นเจ้าของคลื่นหรือไม่ จะเป็นการตัดสิทธิประชาชน ชุมชนท้องที่จะเป็นเจ้าของคลื่นความถี่หรือไม่
5.เงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่
ร่างมาตรา 56 ในวรรค3
"รัฐต้องจัดห้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง มีเงื่อนไขต่างๆ
- ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น
- ป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน
- รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน
- ป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนจากคลื่นความถี่
- กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ซึ่งทุกเงื่อนไขในมาตรานี้ต้องการคำอธิบายทั้งหมดว่าคืออะไร มีเจตนารมย์อย่างไรเช่น
"รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน คำว่าที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน " คืออะไร ใครเป็นคนกำหนด หากไม่มีความชัดเจนก็จะกระทบกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ เพราะในความจริงหนึ่งมีข้อเท็จจริง ข้อมูลหลายชุด สิ่งที่ต้องทำคือต้องให้สื่อต้องเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงได้ง่าย
6. ประเด็นที่ถูกตัดออกไป
"การแข่งขันที่เสรี อย่างเป็นธรรม"ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 เพื่อวางหลักกันเรื่องการแข่งขันที่เสรี อย่างเป็นธรรมเพื่อป้องกัน การจัดสรรคลื่นที่เป็นการผูกขาดหรือสัมปทานในรูปแบบเดิม ๆ
อีกประเด็นคือ"รวมทั้งมาตรการการป้องกันการควบรวมกิจการหรือการเป็นเจ้าหลายกิจการในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาด การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน " ก็ถูกตัดออกไป ไม่เขียนระบุไว้
เงื่อนไขที่ระบุว่า
"รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข่าวสาร" หมายถึงการควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการสื่อหรือเป็นเจ้าหลายกิจการ หรือไม่เพราะถ้าไม่มีมาตรการป้องกันไว้ก็อาจทำให้เกิดการผูกขาดกิจการสื่อเกิดขึ้นได้
มาตรานี้สำคัญมากกับการปฏิรูปสื่อในส่วนที่เกี่ยวคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม หากขาดความชัดเจน จะทำให้คลื่นความถี่เกล่านี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐหรืออยู่ในมือหน่วยงานของรัฐและไม่คืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรอย่างเป็นธรรม
ดังนั้น"คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ควรเป็นสิทธิของประชาชนไม่กลับไปอยู่ในหน้าที่ของรัฐ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลการประกอบกิจการคลื่นความถี่...
ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะยังมีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต่างๆได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประโยชน์สาธารณะ
การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
เป็นกำหนดหลักการที่เป็นหลักประกัน เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นใด ไม่ว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนนั้นจะเป็นพนักงานของรัฐ ลูกจ้างของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานและลูกจ้างในบริษัทเอกชนก็ตามได้ใช้เสรีภาพทคุ้มครองสื่อมวลชนให้มีอิสระและพ้นจากการควบคุมของรัฐ หรือบุคคลที่ที่มีอิทธิพลกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมายที่กำหนดและไม่ขัดต่อจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รับรองในหลักการนี้ร่างมาตรา35 ดังต่อไปนี้
3.1 ร่างมาตรา 35 วรรค1 "บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” โดยใช้คำว่าวิชาชีพแทนคำว่าอาชีพ เพราะวิชาชีพสื่อมวลชนบ่งชี้ความเป็นสื่อที่ต้องมีองค์ความรู้ หลักการ และอุดมการณ์เป็นองค์ประกอบในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
3.2 ความเป็นเจ้าของสื่อในร่างมาตรา35 วรรค4 ระบุ "เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย" ความเป็นเจ้าของสื่อนั้นสำคัญมาก หากเราคิดปฏิรูปสื่อ โดยไม่คคิดถึงผู้ประกอบกิจการธุรกิจสื่อหรือเจ้าของสื่อ การปฏิรูปสื่อเพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะและสังคม คงเกิดขึ้นลำบากเช่นกัน
ที่สำคัญหากไม่มีมาตรการป้องกันการควบรวมกิจการหรือสื่อขายกิจการสื่อเอาไว้ โดยการปล่อยกลุ่มทุนที่มีความแข็งแรง มีทุนเยอะ การควบรวบ ซื้อขายกันได้ง่ายก็จะมีการครอบงำสื่อที่มีผลต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้
ดังนั้น ควรนำมาตรา 48วรรค5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติมาแทนข้อความในมาตรา35 วรรค 4 ที่
"เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นบุคคลสัญญาติไทยและบุคคลไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคมหรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ทั้งนี้เพื่อป้องการการครอบงำและผูกขาดกิจการหลายกิจการที่จะมีผลในการครอบงำหรือผูกขาดการเสนอข่าวสารที่อาจกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้
3.3 สื่อของรัฐ
และในวรรคท้ายของมาตรา ๓๕ วรรค6
"เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่"
เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องวัตถุประสงค์องค์กร ควรตัดออกเพราะการเขียนไว้เช่นนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลทั้งหลายใช้อำนาจแทรกแซงสื่อของรัฐได้ง่าย
คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช ให้ความเห็นไว้ว่า ข้อความที่ใส่เข้ามาใหม่นี้ เท่ากับเปลี่ยนหลักการที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ เคยบัญญัติไว้ ให้พนักงานหรือลูกจ้างทั้งสื่อฯเอกชนและข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหนวยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสากิจในกิจการสื่อประเภทวิทยุและโทรทัศน์ให้มีเสรีภาพเช่นเดียวกัน โดยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การเปลี่ยนมาเป็น เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำสื่อของรัฐฯจะไม่มีเสรีภาพและความอิสระในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อภารกิจของหน่วยงานตัวเองตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
การเปลี่ยนหลักการ ดังกล่าว กำลังทำให้สื่อฯของรัฐถอยหลังกลับไปเหมือนในอดีตเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนที่สื่อฯรัฐถูกตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าเชื่อถือไม่ได้ ไม่มีความเป็นกลาง เป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐบาลเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อได้"
ดังนั้นควรตัดมาตรา 35 วรรคสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไปและใช้ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญปี 2550
พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ....
ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง"
ทั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชนของรัฐมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิของผู้มีอำนาจหรื่อผู้มีอิทธิพลต่างๆๆ
3.4 เงินอุดหนุนสื่อจากรัฐ
เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐหน่วยงานรัฐใช้เงินซื้อสื่อ
"การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้"
หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงิน หรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชน ไม่ว่าเพื่อประโยชน์หรือในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบด้วย (วรรคห้า) การเขียนบังคับไว้เช่นนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจากรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอก็พบว่าที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆของรัฐมีการใช้งบประมาณที่ตามเก็บข้อมูลได้ ปีประมาณ 8,000 ล้านบาท ไม่รวมถึงการจัดอีเว้นต่างๆอีกประมาณ 10,000 ล้านบาทใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ ชื่อเสียงภาพลักษณ์ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และยังเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตกันจำนวนมาก
การเขียนให้เปิดเผยการใช้เงินซื้อสื่อนั้นดีแต่อาจมีคำถามได้ว่า ทำไมจึงบังคับให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดด้วยการแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้วประกาศให้ประชาชนทราบเฉพาะงบฯที่เอาไปใช่เพื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์กับสื่อฯเท่านั้น
การใช้งบฯของหน่วยงานรัฐไปในกิจการอื่น ก็น่าจะกระทำแบบเดียวกันด้วย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐที่กระทำกับบริษัทเอกชนทั้งของไทยและต่าง ประเทศโครงการใหญ่ วงเงินจำนวนมหาศาลซึ่งใช้เงินจากภาษีของประชาชนเช่นกัน ก็ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบและประกาศให้ประชาชนทราบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับมีอคติต่อผู้ประกอบธุรกิจสื่อหรือควรมีมาตราการอื่นในการป้องกันเรื่องนี้ เพื่อห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ หรือผู้มีอำนาจใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ส่วนตัวแทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน
4. การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสารสาธารณะ
เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนที่จำเป็นที่ต้องมีการรับรองและคุ้มครองโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ หากสื่อมวลชนไม่สารมารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ย่อมไม่สามารถนำข้อมูลข่าวสารนั้นไปสู่การรับรู้ของประชาชนก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ของประชาชนไปพร้อมๆกัน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิทธิ เสรีภาพที่สำคัญของประชาชนและสื่อมวลชนแต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำเรื่องข้อมูลข่าวสารบัญญัติไว้ในมาตรา 55 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ
"รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่มิใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือความลับทางราชการและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้สะดวก ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ"
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรา ๕๖ ของรัฐธรรมนูญ 2550
"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ดังนั้น ควรเขียนการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสารสาธารณะและมีหลักประกันทางกฎหมายไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550
5. รับรองการสื่อสารของบุคคล
เสรีภาพในการสื่อสารของบุคคลตามร่างมาตรา 36
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆเพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาถึงข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้เว้นแต่เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ "
ความแตกต่างอยู่ที่วรรค2 ของมาตรานี้ คือแค่มี"คำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ"ก็สารมารถ "การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆเพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาถึงข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันได้เป็นการเปิดกว้างให้รัฐเข้าถึงการติดต่อสื่อสารของบุคคลได้ง่าย ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐจะทำการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆเพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาถึงข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันนั้นจะทำได้ ก็โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชนเท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างจำกัดที่จะให้รัฐใช้อำนาจในการเข้าไปล่วงการสื่อสารติดต่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
ทั้งหมดของร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวการปฏิรูปสื่อ จะทำให้การปฏิรูปสื่อบรรลุเป้าหมายหรือไม่ก็ต้องตืดคามกันต่อไป ซึ่งน่าเป็นห่วงคือเรื่องคลื่นความถี่ เช่ือว่ากระทบกับการปฏิรูปสื่อวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม และกระทบสิทธิประชาชนอย่างแน่นอน