ปาฐกถา...สุรินทร์ พิศสุวรรณ:ส่องโลก มองไทย การปรับตัวในสถานการณ์ท้าทาย
"ระบบราชการ คือผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่ระบบราชการกลับเต็มไปด้วยระบบการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปภัมภ์... มีคำเปรียบเปรยว่า "วันนี้วิ่งเต้นไป C8 พรุ่งนี้ตื่นมา วิ่งเต้นขึ้น C9 ทันที” ทำให้ทุกวันนี้เราได้คนที่ขาดความรู้ความเข้าใจจริงจัง เมื่อมีการตกลงอะไรเราขอกินไว้ก่อน ใครจะเสียผลประโยชน์อะไรเราไม่สนใจ เพราะกำลังคิดถึง C9 ในวันพรุ่งนี้"
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย และอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ส่องโลก มองไทย การปรับตัวในสถานการณ์ท้าทาย” ในงานมอบรางวัลข่าวยอดเยี่ยมและภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2558 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ ห้องภาณุรังษีบอลล์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์
ดร.สุรินทร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องการศึกษาว่า อาเซียนคือประชาคมที่จะมาร่วมมือกัน แต่อาเซียนก็เต็มไปด้วยพื้นที่ของการแข่งขัน เพื่อที่จะได้ประโยชน์ โลกขณะนี้ทุ่มเทเม็ดเงินโดยเฉพาะในเรื่องวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และภูมิปัญญาของคน ประเทศไทยต้องลงทุนให้มากเพื่อตามโลกให้ทัน โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาเป็นเวลานานที่มีการพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่สิบกว่าปีผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการเดินหน้า ยังไม่มีครูที่จะเข้ามาสู่การกระบวนการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง
ประเทศไทยยังสอนให้เด็กจำ ยังสอนให้เด็กท่อง นักเรียนก็มีหน้าที่แต่จำและจำ ปราศจากความเข้าใจ ส่วนข้อสอบก็มักจะออกมาเพื่อถามความจำเสียมากกว่า
"ระบบการศึกษาของเราจึงจำเป็นต้องปฏิรูปเสียที ควรถึงเวลาเสียทีที่ผู้ดูเเลนโยบายต้องคิดให้มากขึ้นว่าจะสอนอย่างไร ทำอย่างไร ให้เด็กไทยสามารถคิดเป็นวิเคราะห์เป็น เพราะปัจจุบัน ความรู้ ข้อมูลต่างๆ มีอยู่ในกูเกิ้ลหมดเเล้ว แต่ทักษะการคิดวิเคราะห์นั้นจะติดตัวเด็กต่อไป ทุกประเทศในอาเซียนสร้างเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ให้ก้าวหน้าสู่สนามของโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน "
ดร.สุรินทร์ ชี้ว่า สิ่งที่ต้องเปลี่ยนสำหรับคนไทยคือ กรอบความคิด (Mindset) ระบบคิด (mentality) เพราะต่อไปนี้ไทยจะอยู่เฉพาะแค่ระบบเศรษฐกิจไทยไม่พอ ตอนนี้โลกจะไม่มีพรมแดน ต่อไปทุกสิ่งจะไหลเชื่อมกันหมด ดังนั้นหากเราไม่ออก เขาจะเข้า หากเราไม่พร้อมจะสู้เขาไม่ได้ หากเราคิดว่า เราสบายใจอยู่แค่นี้ในพื้นที่ของเรา เราไม่พร้อมที่จะออกไปสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ หรือแม้แต่ยุคประชาคมอาเซียน เมื่อสนามการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น คนของเราต้องพร้อมที่จะออกไปในสนามตรงนี้ให้มากขึ้น หากเราอยู่แค่ในจุดตรงสบายๆ ของเรา ต่อไปจะมีคนที่มีความสามารถสูงกว่าเข้ามาฉวยโอกาสมากขึ้น จนเราเองควบคุมไม่ได้
"ขณะนี้หลายบริษัทชั้นนำของไทยเริ่มออกสู่วงกว้างในตลาดอาเซียน ขณะที่ตอนนี้แพทยสภาไทยสอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นต่อไปนี้อีกหลายสภาวิชาชีพจะต้องใช้ภาษาต่างประเทศให้มากขึ้นในการวัดมาตรฐานของสมาชิกสภาวิชาชีพนั้นๆ เหตุผลเพราะเราต้องแข่งขันกับคนอื่น เพราะต่อไปเเพทย์ วิศกร นักบัญชีจะเคลื่อนย้ายไปมาอย่างไร้พรมแดน และหากสามารถเคลื่อนย้ายในอาเซียนได้ เราก็สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ดังนั้นอย่าถามว่า เมื่ออาเซียนเปิดแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว”
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวย้ำถึงภาษาอังกฤษของบ้านเมืองเราก็ต้องรีบเร่งพัฒนาเพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าตอนนี้เราอยู่รั้งท้ายของประเทศสมาชิก ประเทศอื่นที่แม้ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าเรา เพราะฉะนั้นเหตุผลที่ว่า ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของใครเลยใช้อังกฤษไม่ได้ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว
"ต่อไปนี้เราต้องเตรียมคนเพื่ออนาคต เราต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องภูมิภาคและเรื่องของโลก อาเซียนเกิดขึ้นที่นี่ และเจ้าความคิดก็เพิ่งจากไป ประเทศไทยเป็นเจ้าของสิทธิทางปัญญาในเรื่องการรวมตัวสร้างอาเซียน ประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีความหลากหลายที่สุด ประเทศไทยมีทุกอาชีพเกิดขึ้นที่นี่ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งกันเองของคนในชาติ ทำให้ตอนนี้เราไม่สามารถพิสูจน์ให้ประเทศอื่นๆ เห็นว่า เราคือเจ้าของความคิดอันนี้ได้ "
ดร.สุรินทร์กล่าวว่า หากดูเชิงของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (infrastracture) ไม่มีประเทศไหนสู้ได้ยกเว้นสิงคโปร์ แต่สิงค์โปร์สู้ไม่ได้ในเชิงที่ประเทศเป็นเกาะ ไม่ใช่แผ่นดินใหญ่อย่างของไทย หลายประเทศต้องการสร้างความเป็นเลิศในเรื่องต่างๆ ปัญหาของเราคือ จะรักษาความเป็นเลิศที่เรามีเหล่านี้อย่างไร เพราะตอนนี้การจัดการและบริหารของประเทศเราไม่ดี เพราะประเทศเรามีแต่ความขัดแย้ง เพราะความไม่เป็นมืออาชีพของทุกคนที่อยู่ในสังคม
ที่ต้องเปลี่ยนมากที่สุด ดร.สุรินทร์ ระบุว่า คือระบบราชการ ระบบราชการคือผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่ระบบราชการกลับเต็มไปด้วยระบบการเล่นพรรคเล่นพวกและระบบอุปภัมภ์
"มีประโยคคลาสสิคที่บอกว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” แล้วถ้าหากวันนี้ทุกคนมีได้ เพราะพี่ให้ เมื่อไรเราจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม ที่จะไปนั่งตำแหน่งที่จะมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน”
เรื่องดังกล่าว เขาเห็นว่า ส่งผลให้ระบบราชการของไทยเราจึงอ่อนแอลงเรื่อยๆ มีคำเปรียบเปรยว่า "วันนี้วิ่งเต้นไป C8 พรุ่งนี้ตื่นมา วิ่งเต้นขึ้น C9 ทันที” ทำให้ทุกวันนี้เราได้คนที่ขาดความรู้ความเข้าใจจริงจัง เมื่อมีการตกลงอะไรเราขอกินไว้ก่อน ใครจะเสียผลประโยชน์อะไรเราไม่สนใจ เพราะกำลังคิดถึง C9 ในวันพรุ่งนี้
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นอีกฐานันดรสำคัญของสังคมต้องช่วยกันเป็นผู้ปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและของชาติ อย่าเป็นผู้สมยอมไปกับระบบ สร้างให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ ให้สังคมเกิดหลักนิติธรรม (Rule of Law) ทุกอย่างขึ้นอยู่บนความถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเป็นคนของใคร ต้องไม่ก้มหัวในกับอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น
"ผิดคือผิด ถูกต้องถูก เพราะผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ข้าราชการอ่อนแอ ถ้าฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ"
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายๆ ปาฐกถา อดีตเลขาธิการอาเซียน แสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้ไม่ใช่โร้ดแม็พหรือการเลือกตั้ง แต่คือ What is the road map after the road map อะไรจะเป็นโร้ดแม็พ ต่อไปหลังจากผ่านโร้ดแม็พนี้ไป ระบบราชการ ระบบตำรวจ ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา ทุกเรื่องทุกประเด็นในทุกองค์กร จะทำอย่างไรที่จะรักษาความเป็นเลิศของประเทศนี้เอาไว้ให้ได้
"ยังไม่สายเกินไปที่จะตื่นให้ทัน คนที่จะมาปลุกก็คือเหล่าพี่น้องสื่อมวลชนทั้งหลาย ทุกคนต้องมุ่งหวังว่าหากเราหันเข็มไปสู่ความเป็นเลิศ ไม่มีคำว่าพรรค ไม่มีคำว่าพวก เพื่อพิสูจน์ว่าเราคือตัวจริงในอาเซียน"