ดร.สุรินทร์ ย้ำบทบาท 'สื่อ' ต้องขจัดสีเทาออกจากสังคม
ดร.สุรินทร์ ย้ำบทบาทฐานันดรที่ 4 ของสังคม ต้องปลุกความหลับไหลของสังคม ยืนเคียงข้างประชาชน-ประเทศชาติ ขจัดพื้นที่สีเทาให้หมดไป
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย และอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ส่งโลก มองไทย การปรับตัวในสถานการณ์ท้าทาย” ในงานพิธีมอบรางวัลข่าวยอดเยี่ยมและภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องภาณุรังษีบอลล์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.สุรินทร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการทำงานของสื่อมวลชนในฐานะฐานันดรที่ 4 ของสังคม ในอดีตสื่อมีแต่หนังสือพิมพ์ นักเขียนชาวอเมริกัน อธิบายความเป็นหนังสือพิมพ์ว่า เป็นพื้นที่ที่คนในสังคมพูดคุยถึงปัญหาของคนในสังคม แต่ปัจจุบันมีทีวี มีทีวีดิจิทัลมากมาย ก็เพิ่มพื้นที่ถกเถียงมากขึ้น ประชาชนคนธรรมดาไม่มีสังกัด แต่สื่อมวลชนทุกคนมีสังกัด เพราะฉะนั้นหลักการที่จะปฏิรูปสื่อ หลักการที่จะพัฒนาคน ต้องการที่จะปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ สิ่งเหล่านี้ อยากให้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์ของสื่อ แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ตรงไหนที่ไม่ชัดเจน เป็นสีเทา ตรงนั้นจะเป็นที่หาประโยชน์ของคนที่มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ในสังคม สังคมประชาธิปไตยต้องความโปร่งใส
"สื่อมวลชนทุกคนต้องถอดเอาจิตวิญญาณของคุณอิศรา อมันตกุลมาใส่ในการทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่สีเทาเหล่านั้น ต้องไม่ก้มหัวในกับอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ผิดคือผิด ถูกต้องถูก เพราะผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ข้าราชการอ่อนแอ ถ้าฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ”
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ที่มีมานานอย่าง ปัญหาการบิน ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมาย ทำไมปัญหาเหล่านี้ยังมีอยู่ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่าสองทศวรรษเเล้ว ที่ผ่านมาเราเสียเวลาไปกับอะไร ทำไมต้องรอให้นานาชาติมาคว่ำบาตรก่อนเราถึงจะยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้มีตัวตน
"ที่ผ่านมาการสืบสวนจากฐานันดรที่ 4 เพียงพอหรือยัง เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนจะมีส่วนในการปลุกให้สังคมเกิดการตื่นรู้ ตื่นขึ้นมาเพื่อภูมิใจในอดีต และเตรียมตัว แก้ไขปัญหาปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าด้วยกัน ขณะนี้มีแผน 20 ปี ปัญหาคือ แผนสำหรับอนาคตประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด ทำไมประชาชนต้องมีส่วนร่วมเพราะเขาคือเจ้าของและจะเป้นคนที่จะทำให้วิสัยทัศน์เหล่านั้นเป็นจริง"
ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวอีกว่า สิ่งที่นักข่าวทำได้คือ เป็นผู้ปลุก เป็นผู้เตือนเป็นผู้ชี้นำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะต่อไปนี้เราเตรียมคนเพื่ออนาคต สื่อมวลชน ควรทำหน้าที่เป็น "สำนึกของสังคม"
"ความไม่สมบูรณ์ในหน้าที่ ความบกพร่องที่เกิด ความไม่เป็นมืออาชีพ ของบุคคลที่อยู่ประชาคมนี้ต้องกลับมาดู คนอย่างคุณอิศรา อมันตกุล ผู้วางรากฐานของจริยธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าทำงานอยู่ในนามของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์อาชีพจึงต้องมีความเป็นมืออาชีพ เหมือนที่ท่านต้องการให้นักการเมืองเป็นนักการเมืองอาชีพ ที่ทำงานทุ่มเทเพื่อความโปร่งใส"