รายงานขั้นสุดท้าย ผลศึกษาสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง คุ้มค่าลงทุน 633 ล้าน ?
อพท.ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ใช้งบฯ สำนักงบประมาณที่จัดสรรให้ 23 ล้าน และจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการฯ นำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ร่วมกับบริษัทแกรนด์เทค จำกัด และบริษัทไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด
หลังจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้นำเสนอ ผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปล่าสุด เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างนั้น
(อ่านประกอบ:ความเห็นหน่วยงานราชการ 'ข้อดี-ข้อเสีย' สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วยงบฯ 633 ล. ) / ('ศศิน เฉลิมลาภ' ถาม 3 ประเด็นรัฐบาลตอบกระเช้าภูกระดึงจำเป็นจริงหรือ?)/ (ดร.วรากรณ์ แนะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง นำเงินไปช่วยการศึกษาเด็กดีกว่า)
ด้วยมีความเห็นไม่ตรงกันของหลายฝ่าย ครม.รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ได้มีการเห็นชอบ หรืออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างใดๆในพื้นที่แห่งนี้
นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่เริ่มมีแนวคิดสร้างกระเช้าไฟฟ้าสู่ยอดภูกระดึง เมื่อปี 2525 ถัดจากนั้นอีก 2 ปี คณะอนุกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาผลกระทบจากการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ต่อมาปี 2541 กรมป่าไม้ ได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ จำกัด ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า และปี 2555 ครม.มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับอพท.ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกกระดึง
กระทั่งปี 2556 อพท.ได้ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทแกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณที่จัดสรรให้ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 23 ล้านบาท
เมื่อรายงานขั้นสุดท้าย โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เสร็จสมบูรณ์ และได้รายงานต่อครม.ไปแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา นำสาระสำคัญของผลการศึกษาฯ ที่น่าสนใจมานำเสนอ มีดังนี้
การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study)
1.สรุปผลการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยได้ประมาณค่าก่อสร้าง 633.89 ล้านบาท ประมาณการผลประโยชน์และต้นทุนของโครงการระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี โดยด้านการเงิน โครงการฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุนในกรณีที่อัตราส่วนลดเท่ากับร้อยละ 7 และ IRR (The internal rate of return method: IRR วิธีวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ) เท่ากับร้อยละ 7.16
ส่วนทางด้านเศรษฐศาสตร์มีความคุ้มค่าในการลงทุนทุกกรณี โดยมี IRR เท่ากับร้อยละ 17.62 โดยความคุ้มค่าส่วนใหญ่อยู่ในรูปของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จัังหวัดเลยและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงโอกาสให้เกิดแรงงานคืนถิ่น ตลาดจนส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ
2.การพัฒนากระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ดังนั้นการศึกษาจึงให้ความสำคัญในการศึกษา สำรวจ และออกแบบที่ได้มาตรฐาน การกำหนดมาตรการและแผนที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ได้แก่
- เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดผลกระทบจากการเดินทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึง สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในภารกิจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังช่วยขนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน และการขนส่งขยะของเสียต่างๆ ลงมากำจัดในพื้นที่ด้านล่าง
- เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งขยายโอกาสการเดินทางมาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างๆ ได้มากขึ้น
- สร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ทั้งจากการประหยัดเวลาในการเดินทางขึ้นลง ทำให้เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแหล่งอื่น ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมภูกระดึงเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดความสนใจทางการท่องเที่ยวและกระจายโครงข่ายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นโดยรอบ
การศึกษากำหนดทางเลือกของแนวเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้า
โดยสรุป พบว่า ทางเลือก B มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีความยาวทางราบ 4.40 กิโลเมตร สถานีต้นทางและปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
สถานีต้นทางอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3.50 กิโลเมตร ส่วนสถานีปลายทางตั้งอยู่ห่างบริเวณหลังแปไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร และมีระยะจากสถานีปลายทางไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.70 กิโลเมตร
ความลาดชันเฉลี่ยของแนวกระเช้าไฟฟ้า 27% และมีเสารองรับจำนวน 7 ต้น
การศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในการดำเนินงานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เป็นโครงการเข้าข่ายที่ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) สำหรับการพัฒนาโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และมีแนวเส้นทางบางส่วนของโครงการอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1
การศึกษารูปแบบการลงทุนของโครงการ และทางเลือกที่เหมาะสม
เนื่องจากมีความซับซ้อนในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากข้อจำกัดด้านกฎหมายในการดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และระยะเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในกรณีที่หากจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ตามมาตรา 58 รูปแบบที่รัฐ ซึ่งหมายถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ร่วมกับ อพท.ในการดำเนินการจัดหางบประมาณ ในการว่าจ้างเอกชนมารับจ้างก่อสร้างตามรูปแบบและรายการตามที่รัฐกำหนด
นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นลักษณะโครงการที่ต้องอาศัยเทคนิคและเทคโนโลยีเฉพาะทางในการบริหารจัดการและบำรุงรักษา ดังนั้นการว่าจ้างเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการเดินกระเช้าไฟฟ้าจะมีความเหมาะสมและคล่องตัวกว่า ในการปฎิบัติงานภายใต้การดูและของรัฐ
รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคือ PSC-Gross Cost (รัฐลงทุน โดยรัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) หรือ PSC-Modified Gross Cost (รัฐลงทุน ในลักษณะจ้างเดินรถ)
โดยกรมอุทยานฯ ดำเนินการ
1.ลงทุนงานโยธาและระบบกระเช้าไฟฟ้า รวมทั้งตู้กระเช้า (Gondola) โดยว่าจ้างเอกชนให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
2.ว่าจ้างเอกชน เป็นผู้รับจ้างเดินกระเช้าไฟฟ้าและบำรุงรักษา
และ 3.เป็นผู้รับรายได้ทั้งหมด และจ่ายค่าจ้างให้เอกชนตามอัตราที่ตกลงกัน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับค่าโดยสารกระเช้าไฟฟ้า (Gross Cost) หรือมีส่วนเพิ่มหรือลดตามจำนวนผู้โดยสาร (Incentive)
การศึกษารูปแบบบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ รูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ภายใต้ขีดความสามารถที่รองรับนักท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึงโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
ในแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ มีหลักการสำคัญในการกำหนดพื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวให้คงอยู่เฉพาะเขตบริการ และเขตท่องเที่ยวและนันทนาการเท่านั้น จะไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางให้มีการลดจำนวนผู้พักลงในอนาคต ซึ่งให้ท้องถิ่นด้านล่างมีการพัฒนาที่พัก ซึ่งจะลดผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมน
สรุปแนวทางการบริหารจัดการได้ ดังนี้ ทั้งจำกัดนักท่องเที่ยวในการพักแรมต่อคืนบนยอดภูกระดึง ทั้งผู้เดินทางด้วยเท้าและใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าให้มีจำนวนไม่เกิน 5,000 คน ,กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวให้เหมาะสม , จำกัดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นต้น
การกำหนดกรอบการออกแบบ
การออกแบบก่อสร้างจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการก่อสร้างจะใช้การประกอบชิ้นส่วนจากพื้นที่นอกเขตป่าไม้ และขนส่งไปติดตั้งทางอากาศ ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ตามแนวเส้นทางวางสายเคเบิ้ล โดยระบบกระเช้าไฟฟ้าที่เหมาะสม คือ ระบบของกระเช้าไฟฟ้า (Aerial Ropeways) แบบเก๋ง (Mono Cable Detachable Gondola-MDG) ชนิด 8 ที่นั่ง ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งด้านความปลอดภัยและด้านเทคนิค และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สามารถรับแรงลมได้ถึง 20 เมตรต่อวินาที ซึ่งมากกว่าแรงลมเฉลี่ยบริเวณรอบภูกระดึง ที่มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยที่ระดับความสูง 90 เมตร ต่ำกว่า 5 เมตรต่อวินาที
การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชน
จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30 เวที จัดรับฟังความคิดเห็นตามแนวของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 2548 รวม 3 ครั้ง จัดประชุมกลุ่มย่อย 4 ครั้ง รวมทั้งจัดประชุมวิชาการเสนอข้อมูลสรุปผลการศึกษาสำหรับนักวิชาการ และนักอนุรักษ์ที่กรุงเทพฯ การสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีการสำรวจทัศนคติต่อโครงการทางเว็บไซต์ http://www.phukradung-cablecar.com/ รวมมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 6,142 คน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาและจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ แผนปฏิบัติทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยว การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และแผนการจัดวางผังชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในส่วนของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง สรุปได้ว่า
- พื้นที่ที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้าง ประกอบด้วยพื้นที่ต้นทางและปลายทาง เป็นพื้นได้รับผลกระทบต่อชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 น้อยมาก
- การก่อสร้างจะไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ มีจำนวนไม้ที่ต้องสูญเสียประกอบด้วย ลูกไม้ 394 ต้น กล้าไม้ 1,512 ต้น และไม้ไผ่ 66 ลำ
- พื้นที่โครงการไม่อยู่ในเขตแหล่งอาศัยหรือหากินที่สำคัญของสัตว์ป่า
- ผู้มีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวฯ ประกอบด้วยลูกหาบ 337 คน และร้านค้า 119 ร้าน ได้กำหนดแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกหาบและผู้ประกอบการ โดยมีการหารือร่วมกันในกระบวนการมีส่วนร่วมโครงการ
- แนวการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะไม่สามารถมองเห็นได้จากเส้นทางเดินท่องเที่ยว และไม่สามารถมองเห็นได้จากถนนสายหลักที่เข้าสู่ภูกระดึงในปัจจุบัน โครงสร้างรองรับสายเคเบิ้ล ตัวกระเช้า สถานีขึ้น-ลง ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะรูปแบบที่เรียบง่าย กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ตลอดจนก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวกต่อทัศนียภาพ
ทั้งหมด คือ การรายงานขั้นสุดท้าย ของผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ที่อพท. เสนอครม. โดยเน้นการสร้างกระเช้าไฟฟ้าฯ จะเป็นทางเลือกใหม่ เปิดมุมมองใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว สร้างโอกาสเศรษฐกิจของท้องถิ่นชุมชน
รวมถึงจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์และพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหา "ขยะ" ซึ่งขยะและของเสียต่างๆ ที่ถูกทิ้งไว้โดยนักท่องเที่ยวนั้นจะถูกขนถูกลำเลียงจากยอดภูลงมากำจัดด้านล่าง ด้วยตู้กระเช้าไฟฟ้าเฉพาะ
กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง กับแนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนมูลค่ากว่า 633 ล้านบาท ท้ายที่สุดจะใช่ทางเลือกใหม่ในการท่องเที่ยวที่ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ ...ต้องติดตาม