'ศศิน เฉลิมลาภ' ถาม 3 ประเด็นรัฐบาลตอบกระเช้าภูกระดึงจำเป็นจริงหรือ?
ศศินโพสต์ 3 ประเด็นจี้ถามรัฐบาล ตอบกรณีสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ถามคนไทยพร้อมเสียธรรมชาติสวยงามแล้วใช่ไหม
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค Sasin Chalermlarp ตั้ง 3 ประเด็นคำถาม ถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างกระเช้าภูกระดึง โดยรายละเอียดข้อความระบุว่า การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ ไม่มีใครคิดจะตอบ 3ข้อ 3ระดับ
ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วก็มีที่สวยๆ ให้ไปเดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้น และเดินเที่ยว สิ่งต่างๆ ที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ความซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติ และมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในประเทศไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ ก็มีถนนขึ้นถึง หรือ เดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก
ดังนั้นเมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามาย่อมสู้ความสบายเย้ายวนของการขึ้นกระเช้าไม่ได้ มีคนเดินขึ้นก็คงมีน้อยกว่าน้อย พวกที่จะเลือกเดินก็เป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ขึ้นไปก็เหมือนขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาก็ไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่าห้าสิบปี ตั้งแต่รุ่นปู่ จนถึงปัจจุบัน การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชั่นนี้ของภูกระดึงแล้ว
ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้ายังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่นอาคารกลางแหล่งธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ
"เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวยๆ ข้างบน พังไปอีกที่ ใช่หรือไม่” ถ้าไม่ใช่ ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะทำต่อไป ต้องกล้าๆ ออกแบบการท่องเที่ยวหลังจากมีกระเช้ามาให้เห็นเต็มๆ และต้องรับผิดชอบโดยกรมอุทยานแห่งชาติ ภายใต้ งบประมาณ กำลังคน ระเบียบและกฏหมายอุทยาน จะออกแบบอย่างไร ผู้รับผิดชอบอย่างกรมอุทยานเป็นคนวางรูปแบบ จะเอาอย่างไร เปิดเผยแล้วมารับฟังความเห็นกันได้ไหม
ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปมากๆ จริงๆ แล้ว เราพร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นธรรมชาติ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็น เมืองท่องเที่ยวข้างบนไปเลยในอนาคต ไปเลยไหม หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น เช่น ยกเลิกการเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือประกาศเป็นโซนบริการหมดไปเลยไหม นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด
"ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ ลองเปิดออกแบบมาให้หมด แล้วนำมาให้ดู รับฟังความเห็นกันให้จะๆ เลย ใส่ลงในรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย"
"แต่ปัญหาคือ กระเช้าจะเข้า EIA ในฝ่ายของการสร้างทางผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง ไม่น่าจะครอบคลุมกิจกรรมต่างๆหลังกระเช้า สผ. และกรมอุทยาน ต้องชัดนะครับว่าจะศึกษามาถึงขั้นนี้ไหม"
โดยในท้ายข้อความ ประธานมูลนิธิสืบฯระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลตอบคำถามจากประเด็นข้างต้นว่าท้ายที่สุด โครงการสร้างกระเช้าภูกระดึงยังจำเป็นอยู่หรือไม่.