เอนก เหล่าธรรมทัศน์:ถึงเวลาคนไทย“เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ใช้เมือง นคร มหานคร นำประเทศ
“ผมคิดว่าคนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องเมืองและไม่สนใจเรื่องเมืองมากนัก ชนชั้นนำของไทยจะรู้เรื่องประเทศ เรื่องปัญหาของประเทศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นด้านภารกิจ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ แต่ประเทศไทยที่ผมเห็น เป็นประเทศไทยใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ใหม่ในความหมายที่ว่า พื้นที่นั้นมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่ผมคิดว่าถ้าดูอะไรที่จะเป็นอนาคตนั้น ส่วนท้องถิ่นจะเป็นอนาคตมากกว่า”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (FURD) ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และผู้อำนวยการสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในหัวข้อ เมือง: ย้อนคิด มุ่งสู่อนาคต ในการอบรมหลักสูตร “ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมือง รุ่นที่ 1” จัดโดย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
----
ชนชั้นนำไทยติดอยู่ในกับดักความคิดที่ทุกอย่างต้องเริ่มที่ประเทศ เริ่มที่ชาติ เริ่มที่ส่วนกลาง แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้เมือง นคร มหานคร เป็นกำลังสำคัญ
“เรื่องท้องถิ่นกับเรื่องเมือง สองเรื่องนี้ทับซ้อนกันอยู่และไม่อยากให้เรามองเหมือนที่เราเคยพูดกัน เคยสอนกันและเคยคิดกันมา คือมองเรื่องเมืองเป็นเรื่องปลายแถว เป็นเรื่องที่มันเกิดของมันเอง และการพัฒนาประเทศคิดแต่ว่าส่วนกลางทำ นายกรัฐมนตรีทำ คณะรัฐมนตรีทำ กรมทำ กระทรวงทำ ผมคิดว่าอันนี้ไม่เหมือนประเทศที่เขาพัฒนาแล้วที่เมืองเป็นคนทำ นครเป็นคนทำ มหานครเป็นคนทำ การที่อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษเจริญ ไม่ได้เป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่าไรเลย แต่เป็นผลงานของเมือง นคร มหานคร เราอาจจะคิดว่านั่นเป็นเรื่องของฝรั่ง คนไทยเราไม่ควรจะให้ความสำคัญกับเมือง นคร มหานคร ผมคิดว่านี่เป็นการคิดที่คลาดเคลื่อนยิ่ง”
“ประเทศญี่ปุ่น ที่พัฒนามาได้มากมาย เป็นผลงานของรัฐบาลและกระทรวงไม่มากนัก เพราะว่าการพัฒนาของญี่ปุ่นอยู่ที่จังหวัดและเทศบาล ซึ่งเป็นท้องถิ่น จังหวัดของญี่ปุ่นนั้นเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าใช้ภาษาที่เราคุ้นเคยกว่าก็คือ จังหวัดของญี่ปุ่นเป็น อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) แต่ว่า อบจ.ของญี่ปุ่นรวมกันทำสนามบินได้ หรือทำรถไฟใต้ดิน หรือสร้างมหาวิทยาลัยได้...คือใช้เมือง นคร มหานคร นำประเทศ แต่กรอบนี้เข้ามาในหัวคนไทยได้ยากมาก เพราะคนไทยถูกสอนมาตลอดว่าประเทศนำเมือง นคร มหานคร ประเทศบริหารเมือง นคร มหานคร ประเทศพัฒนาเมือง นคร มหานคร แต่ในความเป็นจริง ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วนั้น เมือง นคร มหานคร นำประเทศ”
“ประเทศจีนนั้น เมือง นคร มหานคร สำคัญ สี จิ้นผิง หลี่ เค่อเฉียง ไม่ได้ทำงานอะไรมากนัก รัฐมนตรีจีนไม่ได้ทำงานอะไรมากนัก คนที่ทำงานให้ประเทศจีนมากก็คือ นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการมหานคร เช่น ปักกิ่ง เทียนสิน เสิ่นเจิ้น ฉงชิ่ง เป็นต้น คนสำคัญๆ จะถูกวางในพื้นที่ ไม่ใช่อยู่ที่กรม กระทรวง ตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเซี่ยงไฮ้นั้นใหญ่มาก ปักกิ่งก็เช่นเดียวกัน รัฐมนตรีของจีนที่มีศักดิ์ศรีสูงกว่านายกเทศมนตรีปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้นั้นมีน้อยคนมาก ถ้าให้เลือกได้ ผู้นำจีนอยากจะเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองหรือผู้ว่าการมณฑล ซึ่งก็เป็นตำแหน่งในพื้นที่อีก อย่างเช่น หู จิ่นเทา ก็ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไหนทั้งสิ้น มาจากผู้ว่าการมณฑล 3-4 มณฑล แล้วขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี หลี่ เค่อเฉียง ก็เช่นกัน ถ้าผมจำไม่ผิดไม่เคยเป็นรัฐมนตรี เคยเป็นผู้ว่าการมณฑล แล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหมายเลข 2 ของจีน”
“ผมคิดว่าคนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องเมืองและไม่สนใจเรื่องเมืองมากนัก ชนชั้นนำของไทยจะรู้เรื่องประเทศ เรื่องปัญหาของประเทศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นด้านภารกิจ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ แต่ประเทศไทยที่ผมเห็น เป็นประเทศไทยใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ใหม่ในความหมายที่ว่า พื้นที่นั้นมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่ผมคิดว่าถ้าดูอะไรที่จะเป็นอนาคตนั้น ส่วนท้องถิ่นจะเป็นอนาคตมากกว่า”
คนไทยต้อง “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” เพราะความสัมพันธ์ “เมือง-ชนบท”ไทย เปลี่ยนไปมาก
ศ. เอนก กล่าวว่าที่ไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ดึงพลังของเมือง นคร มหานคร มานำประเทศนั้น เพราะความสัมพันธ์ “เมือง” กับ “ชนบท” ของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก ผ่านการปะทะกันมาอย่างน้อยสามยุค จากยุคแรกที่ “เมือง” กับ “ชนบท” ปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มาในยุคที่สอง ยุค “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ “เมืองกรุง” กับ “ชนบท” ขัดแย้งกันในระบอบประชาธิปไตย คนเมืองกับคนชนบทพยายามล้มรัฐบาลที่อีกฝ่ายเลือกเข้ามา แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ของเมืองกับชนบทในไทยมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
“วันนี้ผมกำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของชนบทกับเมืองรอบที่ 3…คือสภาพที่ประเทศไทยกำลังจะหมดชนบท หากเราดูจากสถิติของกระทรวงมหาดไทยพบว่ามีประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษพัทยา รวมแล้วเกือบ 50% หากพูดถึงสถิติมหาดไทย ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เป็นชนบท แต่ อบต.จริงๆเวลานี้ไม่ใช่ชนบทแล้ว คือเมืองขนาดเล็ก อาจจะมี อบต.บางที่ที่ยังดูเป็นชนบทอยู่ แต่ส่วนใหญ่คือเมืองขนาดเล็ก หากพูดจากการคาดคะเน อบต. ครึ่งหนึ่งเป็นเมือง ครึ่งหนึ่งยังเป็นชนบทอยู่ ประชากรที่อยู่ในเขตเมือง ตั้งแต่เมืองเล็กๆ จนถึงเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็คิดเป็น 60-70% แล้ว อบต.ที่เหลืออยู่ที่ผมเรียกว่าชนบทนั้น ก็ไม่ใช่ชนบทแท้ๆ มีการซื้อ มีการขาย มีการบริการ มีการจ้างคนทำนา ไม่ใช่ชาวนาแบบเดิมแล้ว มีการเป็นหนี้ ส่งลูกเรียน ทุกหมู่บ้านมีคนไปทำงานกรุงเทพฯ ทุกหมู่บ้านมีคนไปทำงานต่างประเทศ ทุกหมู่บ้านมีสามีหรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ มันไม่ใช่ชนบทแบบเดิมแล้ว
ต้องเอาเมือง นคร มหานคร เป็นตัวนำประเทศ
“ถ้าเราเอาเมือง นคร มหานคร เป็นจุดระดมความสนใจใหม่ อันนี้จะพาประเทศไทยไปข้างหน้าได้อีกมาก แต่ถ้ายังทำแบบเดิม GDP Growth ผมว่าได้ 3% ต่อปีก็เก่งมาก จะให้ได้ 4% ก็หืดขึ้นคอ เผลอๆจะตกมา 2% กว่าๆ และตอนนี้ทหารปกครอง ก็อย่าไปคิดว่าถ้าพลเรือนปกครองแล้วมันจะดีกว่านี้ได้มากนัก เพราะว่าไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็ยังคิดแบบเดิม เรารับมรดกนี้สืบเนื่องมา 70-80 ปีแล้วตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เราปกครองประเทศแบบนี้
“ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 พื้นที่ยังสำคัญอยู่มาก ที่เห็นชัดที่สุดก็คือการมีมณฑล เรื่องต่างๆต้องไปที่มณฑลก่อน แล้วมณฑลมีวัฒนธรรมได้ มีความแตกต่าง ความหลากหลายได้ ทางภาคใต้มณฑลปัตตานียังใช้คนมลายูปกครอง เรียกว่า สุลต่าน ในภาษามลายูหรืออาหรับ หรือเรียกว่าพระยาตามแบบราชสำนักของไทย ในสมัยนั้นมีมณฑลและมีข้าหลวง และถึงแม้กระทรวงมหาดไทยแทบจะเป็นกระทรวงเดียวที่ดูแลทุกพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ดูแลแบบหนาแน่นเหมือนสมัยนี้ ข้าราชการอื่นๆลงไปในต่างจังหวัดน้อยมาก ปล่อยให้เมืองเขาปกครองกันเอง
แต่การพัฒนาทำให้เราส่งคนลงไปต่างจังหวัดมาก เวลานี้จังหวัดต่างๆ เป็นส่วนกลางทั้งนั้นที่ลงไปทำงานในนั้น เช่น เชียงใหม่ มีหน่วยงานจากส่วนกลางเป็นร้อย ของภูมิภาคมีประมาณ 60-70 คน เพราะฉะนั้นเราทำจนประเทศไทยเป็นแบบนี้ หากมองแบบผิวเผินก็เรียบร้อยดี แต่หากมองแบบที่ผมพยายามจะชวนให้พวกเรามอง มันไปฉุด ไปรั้งท้องถิ่นเอาไว้ มันไปฉุดไปรั้งเมือง นคร มหานครเอาไว้ เพราะฉะนั้นเรามีภารกิจที่ต้องปลดปล่อย เมือง นคร และท้องถิ่นให้มันโลดแล่นไปข้างหน้าให้ได้ ลองให้แม่สอด แม่สายและมุกดาหาร จัดการตัวเองให้มากขึ้น แลกกับการที่เขาต้องเอารายได้มาให้กับรัฐให้มากขึ้น ไม่ใช่ให้ฟรี การกระจายอำนาจไม่ใช่การให้ฟรี กระจายไปแล้วคุณต้องทำงาน”
กรุงเทพเป็นเมืองที่มีคนเดินทางมามากที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง
“เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวว่าในบรรดาเมืองในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งหมายถึงเอเชีย รวมญี่ปุ่น เกาหลี รวมไปจนถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไม่มีเมืองไหนที่คนมามากเท่ากรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวน 21 ล้านคน...ถ้าเทียบกับระดับโลก มีเมืองที่ใกล้ๆกับเราที่มีคนเดินทางมาทุกปี จำนวนเท่าๆเรา อีกเมืองเดียว คือลอนดอนมี 21 ล้านคนเท่ากัน ลองคิดดูสิครับ ประเทศไทยของเราที่เราบอกว่ากระจอกนั้นจริงๆแล้วมันไม่กระจอก เราวิพากษ์มัน แต่กลับเจริญขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆอยู่ท่ามกลางดงการด่าของพวกเรา”
“ประเทศไทยต้องใช้กรุงเทพฯให้มากกว่านี้ ต้องทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองของโลกให้มากกว่านี้ ชาวกรุงเทพฯ ไม่ค่อยรักกรุงเทพฯ เราควรจะต้องฝึกช่วยทำให้กรุงเทพฯสวยและสะอาด กรุงเทพฯซึ่งเราไม่ดูแลนั้นรับแขกให้เรา 21 ล้านคน พยายามอีกนิดจะชนะลอนดอน แต่ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯที่ไปได้ดีทั้งๆที่เราบ่นนัก อีกสองเมืองซึ่งก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน คือ ภูเก็ต นักท่องเที่ยวมาเป็นอันดับที่ 10 ส่วนพัทยา เป็นอันดับที่ 13 จากทั้งหมด 25 เมืองในเอเชียแปซิฟิกที่คนมามากที่สุด ภูเก็ตและพัทยาก็คือเมือง...”
“ในวันนี้ ผมคิดว่ากระบวนทัศน์ใหม่ก็คือ ต้องให้เมือง นคร มหานครนำประเทศ พัฒนาประเทศ ประเทศมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ปลดปล่อย เมือง นคร มหานครให้เดินไปข้างหน้า”