1,300 สัญญา 4.8 พันล.! งานขุดคลอง อผศ.-ผอ.ยันเครื่องจักรน้อยต้องเช่า
1,300 สัญญา 4.8 พันล้าน! งานขุดคอลง อผศ. ทั่วประเทศ ‘พล.อ.รณชัย’ ยันมีเครื่องจักรน้อย ต้องทำสัญญาเช่าเอกชน ยังไม่พบการจ้างช่วง จ่อซื้อเครื่องจักรตัวเองงบปี’59 ประสานข้อมูล สตง. ลงพื้นสอบเชิงลึก เตรียมปัดกวาดบ้านตัวเอง พบ จนท.เอี่ยวมีโทษหนัก เผยเอกชนรับโล่อุปการคุณเพื่อตอบแทนซื้อของใช้ให้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) พร้อมด้วย พล.ท.สวัสดิ์ ทัศนา รอง ผอ.อผศ. และคณะผู้บริหารระดับสูงของ อผศ. เดินทางตรวจความคืบหน้าในโครงการขุดลองคูคลองในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี 4 แห่ง ได้แก่ โครงการขุดลอกคลองบางจิก ม.1 บ้านแหลม ต.บ้านช้าง อ.สองพี่น้อง โครงการขุดลอกดินตะกอนและอ่างเก็บน้ำหนอกถ้ำ ม.3 บ้านดอนขาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า โครงการงานราดคอนกรีตคลองส่งน้ำ 4 ขวา 1 ซ้าย ต.ดอนปรู อ.ศรีประจันต์ และโครงการงานปรับปรุงคลองระบาย ร.1 ขวา (ช่วง 2) ต.แจงงาม อ.หนองหญ้าไซ ซึ่งดำเนินการขุดลอกเพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับการเกษตร ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และป้องกันน้ำท่วม
ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าแล้วเสร็จ พล.อ.รณชัย กล่าวถึงกรณีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องการจ้างช่วงเอกชนเข้ามารับงานจาก อผศ. ว่า นับตั้งแต่เริ่มทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐช่วงปลายปี 2557-ปัจจุบัน มีทั้งหมดประมาณ 1,300 สัญญา รวมวงเงินกว่า 4,800 ล้านบาท โดยเป็นสัญญาของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประมาณ 900 สัญญาเศษ โดยในส่วนของ อผศ. เป็นหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษจากคณะกรรมการสิทธิพิเศษหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ให้เข้าไปรับงานขุดลอกแหล่งน้ำจากหน่วยงานของรัฐได้ แต่ขณะนี้เครื่องจักรของ อผศ. มีไม่มากพอ จะให้ดำเนินการจัดซื้อเอง ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าในปีแรกจะคุ้มทุนหรือไม่ จึงต้องดำเนินการทำสัญญาเช่าเครื่องจักรกับเอกชนในพื้นที่ก่อน
“ก็เหมือนกับบริษัทต่าง ๆ ที่จะยังไม่จัดซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ในการลงทุน แต่จะทำการเช่าเครื่องจักรกับบริษัทอื่นแทน อย่างไรก็ตามถ้าแผนงานยังไปได้ดี ในปีงบประมาณ 2559 นี้ เตรียมที่จะจัดซื้อเครื่องจักรเป็นของตัวเองได้บ้าง โดยดูว่ามีเครื่องจักรแบบไหนที่ควรซื้อ ซึ่งอยู่ระหว่างการร่าง TOR อยู่ และให้ฝ่ายสำนักงานกิจการการเกษตรการอุตสาหกรรมและการบริการ (สกบ.) ผู้รับผิดชอบโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการ” พล.อ.รณชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ภายหลังตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว มีความคืบหน้าถึงไหนบ้าง พล.อ.รณชัย กล่าวว่า ตอนที่ อผศ. ทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ จะส่งเจ้าหน้าที่ อผศ. ประจำเขตต่าง ๆ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่ 24 เขต เข้าไปตรวจสอบตั้งแต่ตอนเริ่มงาน ช่วงกลางงาน และช่วงเสร็จสิ้นงาน อย่างไรก็ดีปัญหาที่พบขณะนี้คือ พื้นที่บางส่วนไม่ตรงกับแบบ จึงต้องประสานกับเจ้าของพื้นที่เพื่อแก้แบบให้สามารถดำเนินการได้ ทำให้ค่อนข้างเสียเวลา
เมื่อถามว่า ในพื้นที่บางแห่งตรวจสอบเจอแล้วหรือยังว่า มีการทำสัญญาจ้างช่วงงานให้เอกชนจริง พล.อ.รณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เจอ แต่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ อผศ. ในพื้นที่ให้ทำการตรวจแล้ว โดยตอนนี้ อผศ. ทำสัญญาไปกว่า 1 พันสัญญา ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังได้ประสานกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บ้างแล้ว ถ้ามีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่
“ไม่ต้องกลัว ผมการันตี ถ้าเจออะไรผิดปกติ ผมจะดำเนินการตามกฎหมาย จะไม่ยอมให้ อผศ. ที่เป็นหน่วยงานก่อตั้งมานานเกือบร้อยปีต้องเสียไปมากกว่านี้ ยินดีที่จะร่วมกันตรวจสอบกับ สตง. ด้วย และถ้า สตง. ขอข้อมูล จะให้เข้ามาดูทันที” พล.อ.รณชัย กล่าว
ส่วนกรณีมีการกล่าวหาผู้บริหารรายหนึ่งใน สกบ. มีส่วนรู้เห็นเรื่องนี้นั้น พล.อ.รณชัย กล่าวว่า จะตรวจสอบทั้งหมด ไม่ใช่แค่ตรวจสอบภายนอก แต่ต้องปัดกวาดบ้านตัวเองด้วย ใครทำผิดต้องมีโทษ ทุกสิ่งอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน พนักงานใน อผศ. จะดูว่าทำผิดโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หากพบว่าผิดโดยเจตนาจะดำเนินการลงโทษทันที
“ภายหลังเกิดปัญหาขึ้น ตอนนี้มีการจัดตั้งฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่ ก็อาจจะมีการผิดพลาดเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น และมีงานใหม่ ๆ เข้ามาเยอะพอสมควร ถ้าเคลียร์ทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง อะไร ๆ ก็จะดีขึ้น” พล.อ.รณชัย กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่ ผอ.อผศ. คนเก่า จัดงานมอบโล่อุปการคุณให้เอกชนหลายแห่ง เอกชนเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ พล.อ.รณชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ขอตอบอย่างนี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการคือ ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามสิทธิพิเศษของ อผศ. ซึ่งมี สกบ. เป็นผู้ดูแล ซึ่งตั้งมาใหม่ ยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องปรินต์ กระดาษเขียนแบบ หรืออุปกรณ์เขียนแบบ บางครั้งฝ่าย อผศ. จัดหาให้ไม่ทัน ก็ได้เอกชนเหล่านั้นเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อน
พล.อ.รณชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีมีการร้องเรียนให้ยกเลิกสิทธิพิเศษ อผศ. ของคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ นั้น ข้อเท็จจริงคือ คณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ มีมติให้สิทธิพิเศษกับ อผศ. ตั้งแต่ช่วงปี 2556 แล้ว โดยดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง และมีการเชิญหลายหน่วยงานเข้าไปชี้แจง แต่ขณะนั้นนั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงตัดสินใจยังไม่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557 จึงรอให้สถานการณ์นิ่ง และเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ ไม่ได้เพิ่งทำช่วงที่เกิดการรัฐประหารแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :