กตป.ประเมินกสทช. ทำงานมา 2 ปี สอบตก-ขาดประสิทธิภาพ
กตป.ประเมินกสทช. สอบตกบริหารทีวีดิจิทัล ชี้ 2 ปี ทำงานแบบขาดประสิทธิภาพ ไม่พร้อมทั้งเรื่องปริมาณและโครงข่ายคุณภาพ-การสร้างความเข้าใจกับประชาชนสู่กระบวนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบดิจิทัล แนะหากไม่เยียวยาช่องรายเล็กอาจล้มหาย สุดท้ายประชาชนเสียประโยชน์
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. แถลงข่าว “2 ปีทีวีดิจิทัล สำเร็จหรือล้มเหลว?” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 อาคารไอทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต
นายพิชัย อุตมาภินันท์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) กล่าวถึงการทำงานของกสทช.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงความล้มเหลวในการทำงานเกี่ยวกับทีวีดิจิทัล เนื่องจากกระบวนการทำงานขาดประสิทธิภาพ ไร้ความรอบคอบ ซึ่งต้นตอปัญหาอยู่ที่ความไม่พร้อม ทั้งในส่วนของปริมาณและคุณของโครงข่าย นอกจากนี้ยังขาดประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบดิจิทัลด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผู้ประมูลทีวีดิจิทัลต้องเผชิญเกี่ยวกับการจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัลนั้น หรือข้อเรียกร้องให้มีการเยียวยา นายพิชัย กล่าวว่า หากพิจารณาก็สอดคล้องกับการประเมินสภาพปัญหา ซึ่งบางส่วนสามารถที่จะดำเนินการเยียวยาได้ บางส่วนอาจจะทำไม่ได้ และบางส่วนอาจจะทำได้แต่ต้องใช้ระยะเวลา สุดท้ายหากกระบวนการเยียวยาไม่เกิดขึ้นทีวีดิจิทัลหลายช่องก็อาจจะอยู่ไม่ได้ และล้มหายตายจากไป ซึ่งคนที่จะเสียประโยชน์ก็คือประชาชน
นายพิชัย กล่าวอีกว่า การจะให้ทีวีดิจิทัลสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น อาจจะต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้การจ่ายเงินค่าประมูลสามารถที่จะจ่ายช้าลงได้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นคือประมูลมาสูง และไม่มีเงินสร้างเนื้อหา เลี้ยงบุคคลากร ดังนั้นจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจะประคับประคองพวกเขาให้อยู่รอดต่อไปได้ หากเปรียบเป็นคนป่วย ก็คือผู้ป่วยอาการหนักที่ใช้ยารักษาเม็ดเดียวก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือหรือเยียวยาจะต้องมาในเวลาที่เหมาะสม
สำหรับประเด็นปัญหาที่ทำให้กระบวนการทำงานของกสทช.ล้มเหลว จากการประเมินของ กตป. ประกอบด้วย
1.การติดตามการแก้ไขปัญหา อุปสรรคกระบวนการการเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ดิจิทัล คือคุณภาพโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล สัญญาณไม่เป็นไปตามความคาดหวัง คูปองบางส่วนไม่ถึงมือประชาชน
2.การประชาสัมพันธ์เป็นเพียงการขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การรับชมและปฏิเสธที่จะนำกล่องไปใช้งานเพราะยุ่งยากเกินความจำเป็น
3.ยุติการออกอากาศสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบแอนาล็อก ที่ไม่มีความชัดเจน และไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านโครงข่าย
4.ขาดผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานในการกำกับดูแล
และ 5.การดำเนินงานของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เห็นว่าเงินที่ได้จากการประมูลบริการธุรกิจควรจะนำมาใช้เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มากกว่าการจะนำไปใช้เพื่อประอบกิจการอื่น
“การเกิดขึ้นของกสทช.เป็นความก้าวหน้าของระบบการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทรัพยากรของชาติอำนวยประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง กสทช. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ต้องสร้างวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บท ยึดหลักธรรมาภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุผลอย่างแท้จริง”