นักวิชาการชี้รัฐอัดฉีดงบฯ 1.5 หมื่นล้าน แค่บรรเทาภาวะภัยเเล้ง
KOFC เผยภัยเเล้งทำพื้นที่เพาะปลูกเสียหายเเล้วเกือบ 3 ล้านไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 2.7 เเสนคน คาดสถานการณ์ขยายถึง มิ.ย.59 ไม่กระทบน้ำอุปโภคบริโภค เเนะรัฐบริหารจัดการเชิงอุปสงค์ หลังคนไทยจ่ายค่าน้ำต่ำกว่ามูลค่า
วันที่ 3 มีนาคม 2559 ศูนย์ติดตามเเละพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KOFC) เเถลงข่าวเรื่อง ภัยเเล้งกับเเรงงานภาคเกษตร ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บางเขน
ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนต่ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเเละขนาดใหญ่มี 38,515 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ใช้การได้ 14,719 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ซึ่งปริมาณน้ำน้อย ทำให้กิจกรรมทีส่งผลต่อเศรษฐกิจลดลงอัตโนมัติ เพราะผลิตสินค้าเกษตรไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงกระทบต่อภาคเเรงงาน หลายคนถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ พบความเสียหายเเล้วครอบคลุมพื้นที่ 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 271,341 ราย
"เเรงงานภาคเกษตรมีเเนวโน้มลดลงอยางต่อเนื่อง โดยเเรงงานภาคเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 39.63 ของผู้มีงานทำรวมทั้งประเทศ เเต่ในปี 2558 สัดส่วนกลับลดลง เหลือเพียงร้อยละ 32.28"
ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรม ยังพบเเรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเเนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เเต่กลุ่มเเรงงานอายุ 15-39 ปี กลับมีเเนวโน้มลดลง ชี้ให้เห็นว่า เเรงงานเกษตรรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรกรรมน้อยลง ส่งผลให้อายุเฉลี่ยเเรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยเเล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ ได้เเก่ การส่งเสริมความรู้เเละสนับสนุนปัจจัยการผลิต, การชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้, การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้เเก่เกษตรกร, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ, การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน, การเสริมสร้างสุขภาพเเละความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สิน เเละการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ งบประมาณทั้งสิ้น 15,458.31 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้เบิกจ่ายเรียบร้อยเเล้ว
"เรามุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ไม่ว่าจะเป็น ฝนเทียม น้ำบาดาล หรือเเก้มลิง เเละขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.ภูมิศักดิ์ กล่าว เเละว่า แต่เกษตรกรรมขณะนี้กำลังมีปัญหา ฉะนั้นทำอย่างไรให้มีการพัฒนาดิน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยสนับสนุน
ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับตัวของเกษตรกรว่า การผลิตต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ ราคา เเละตลาดรับซื้อ เเละการผลิตทางเลือกอื่น เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมงขนาดเล็ก เเละควรสร้างเเรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาอยู่ในภาคเกษตรกรรมมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ดร.ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า ภัยเเล้งอาจขยายระยะเวลาถึงเดือน มิ.ย. 2559 เเต่ยืนยันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเพียงพอ
(ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มก.)
ด้าน ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อเเรงงานจากภัยเเล้ง หนึ่งในนั้น คือ กรมชลประทานจ้างเเรงงาน ซึ่งปัจจุบันจ้างเเรงงาน 77,049 คน งบประมาณ 1,258 ล้านบาท กระตุ้นจีดีพีจากเม็ดเงินอัดฉีด 2,682 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน หลายครั้งที่ศูนย์วิจัยฯ ลงพื้นที่ศึกษา พบว่า จากการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขั้นตอนความรู้เกี่ยวกับการปลูกที่ถูกต้องไม่ถึงเกษตรกร เช่น ถั่วเขียว ซึ่งต้องมีความชื้นเพียงระดับหนึ่ง เเต่เกษตรกรระบุว่าไม่มีน้ำ จึงปลูกไม่ได้ เป็นต้น
"จีดีพีที่เกิดขึ้นจากการจ้างเเรงงาน ในภาพรวมเเล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยาก ฉะนั้นการอัดฉีดจึงเป็นเพียงการช่วยให้เกษตรกรมีเงินเหลือใช้จ่าย เเต่คงไม่เฟื่องฟู เพียงการบรรเทาจากภาวะภัยเเล้งเท่านั้น"
เมื่อถามว่า ภัยเเล้งในขณะนี้จะทำให้เกษตรกรมีสถานะทางเศรษฐกิจอย่างไร รองคณบดีฝ่ายวิจัยฯ กล่าวว่า ในบางครั้งการเป็นหนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณเเง่ลบเสมอไป กรณีเป็นหนี้เเล้วส่งเสริมการลงทุน เเต่สถานการณ์ภัยเเล้งคาดการณ์ว่า หากผลผลิตไม่ได้ตามเป้า เกษตรกรจะไม่สามารถชำระหนี้ได้สูง เพราะฉะนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายชะลอหนี้เบื้องต้น เพื่อเพิ่มอำนาจการซื้อ จึงมั่นใจว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะหนี้สินเกษตรกร เเต่ระบุเเน่นอนไม่ได้ว่าปริมาณเท่าไหร่
ขณะที่ ดร.วิษณุ อรรถวานิช รอง ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจประยุกต์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาภัยเเล้งปัจจุบันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริง ไทยมีน้ำเพียงพอตลอดปี ขาดเเค่ช่วงฤดูเเล้งเท่านั้น ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำที่ดีจะช่วยไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น เเต่ที่มีปัญหานั้น ต้องยอมรับเกิดขึ้นกับทุกประเทศ
"รัฐบาลไทยทำดีที่สุดเเล้วในเชิงอุปทาน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเขื่อน ขุดลอกคูคลอง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เเต่ปัจจุบันน้ำที่ใช้ ไม่ว่าภาคเกษตร ภาคครัวเรือน เราอาจจ่ายเงินค่าน้ำต่ำกว่ามูลค่าน้ำ ไม่ได้สะท้อนความรู้สึกในการประหยัดน้ำ ทุกคนยังมองว่าน้ำฟรี เเต่ในประเทศต่าง ๆ จัดการในเชิงอุปสงค์ด้วย โดยสอนให้คนตระหนัก คิดถึงรายจ่าย จึงควรสร้างกลไกจัดสรรบริหารในเชิงอุปสงค์ของน้ำด้วย” รอง ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจประยุกต์ กล่าว .