แล้งน้ำน้อย ดันเกษตรกรปลูก 'ถั่วเขียว' พุ่งเกิน 1 ล้านไร่เป็นปีแรก
นักวิชาการห่วง ปลูกมากราคาตกเจอพ่อค้าคนกลางกด แนะเกษตรกรรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง พร้อมจี้รัฐเข้ามาดูกลไกทางการตลาด คุมพ่อค้าคนกลาง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ สกว. "เกษตรน้ำน้อย...ทางออกของเกษตรกร" ณ หอประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารสนเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อนำความรู้มาเชื่อมโยงกับภาคนโยบายและสาธารณะ และการปรับตัวและการอยู่รอดของเกษตรกรในภาวะน้ำแล้ง พร้อมสร้างทางเลือกทดแทนการปลูกพืชในภาวะปกติ อาทิ การปลูกถั่วเขียว ที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาถึง 3-4 เท่า การปลูกพริก พืชอีกชนิดที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งปี ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว รวมการหันมาเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่ประดู่หางดำ ไก่โคราช เป็นต้น
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการที่รัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งการปลูกถั่วเขียว เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่เคยทำนา แต่ก็มีความเป็นห่วง เรื่องราคา หากปลูกกันมากๆ ราคาจะตก ตรงนี้ภาครัฐที่ และหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล
"ที่ผ่านมาราคาถั่วเขียวไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย แต่ผู้รับซื้อต่างหากที่ทำให้ราคาเปลี่ยน จะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากถั่วเขียว ทั้งวุ้นเส้น ถั่วงอก ขนมที่ทำจากถั่วเขียว ลูกชุบ ไม่ได้ราคาเปลี่ยน ฉะนั้นจึงตั้งข้อสังเกตุ การปลูกถั่วเขียวมากๆ อาจทำไมราคาตก ต้องมีใครเข้าไปดูแล ดูกลไกตลาด ดูพ่อค้าคนกลาง" ศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าว และว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการปลูกถั่วเขียวถึง 1 ล้านไร่ วันนี้เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันปลูกถั่วเขียวหลังทำนา เพราะจะมีอำนาจต่อรอง ทางการตลาดมากขึ้น
ศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวถึงประเทศที่ปลูกถั่วเขียวรายใหญ่ที่สุด คือ อินเดีย แต่บริโภคภายในประเทศหมด รองลงมาเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนไทยปลูกถั่วเขียวมากติด 10 อันดับ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำลังแก้ปัญหาภัยแล้ง และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย และมีรายได้ การปลูกถั่วเขียวกำลังกลับมา ราคาปัจจุบันกิโลกกรัมละ 25-30 บาท เกษตรกรพอใจแล้ว แต่หากราคาตกกว่านี้ จากปริมาณที่ปลูกกันมากขึ้น หวั่นว่า ราคาถั่วเขียวของไทยจะเท่ากับประเทศเมียนมาร์ ที่มีต้นทุนการผลิต ค่าแรงถูกกว่าไทย
ด้านนายวีระ ภาคอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงเกษตรน้ำน้อย ข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุว่า การปลูกข้าวอายุ 100 วัน ใช้น้ำประมาณ 1,172 ลูกบาศก์เมตร ถั่วเขียว อายุ 70 วัน ใช้น้ำประมาณ 365 ลูกบาศก์เมตร หมายความว่า ถั่วเขียวใช้น้ำน้อยกว่าข้าวถึง 3 เท่า ขณะที่พริก อายุ 150 วัน ใช้น้ำประมาณ 819ลูกบาศก์เมตร
นายวีระ กล่าวถึงการปลูกพริกในฤดูแล้ง ต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำ แม้การปลูกพริกจะใช้น้ำปริมาณที่น้อยกว่าการปลูกข้าว แต่ก็ขาดน้ำไม่ได้ ดังนั้น แต่เกษตรกรต้องมั่นใจว่า มีน้ำรดต้นพริกได้ทุก 3-5 วันต่อครั้ง ยิ่งฤดูแล้งต้องให้น้ำวันเว้นวัน
"การส่งเสริมหรือแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์อะไรก็ตาม ต้องมั่นใจ มีน้ำเพียงพอ มีตลาดรองรับอย่างเพียงพอ ไม่เช่นนั้นสินค้าจะล้นตลาด หรือเกินความต้องการของตลาด ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรจะขายได้มีราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มมากขึ้น"
ทั้งนี้ นายวีระ กล่าวถึงแนวคิดการทำเกษตรด้วยว่า ต้องปรับแนวคิดการทำเกษตร เป็นการทำธุรกิจเกษตรที่เอาตลาดเป็นตัวนำ มีการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ การผลิต การตลาด ก่อนตัดสินใจทำการผลิต มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกรวมในพื้นที่นั้นๆมีปริมาณที่มากพอให้พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ จึงมีการแข่งขันในการรับซื้อ ส่งผลด้านราคาสินค้าเกษตร