แถลงการณ์องค์กรต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องแซงก์ชั่น"ช่อง3-สรยุทธ"
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ออกแถลงการณ์ กรณีนายสรยุทธ ทวงถามช่อง3 ถึงบรรษัทภิบาล และจริยธรรมของสื่อมวลชน
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออก แถลงการณ์สืบเนื่องจากกรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังคงบทบาทและดำเนินรายการในฐานะพิธีกรรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง3 แม้ว่าจะถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกใน คดีทุจริตค่าโฆษณา 138 ล้านบาทของบริษัทไร่ส้ม โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุไว้ดังนี้
“ขอความร่วมมือในการรักษาบรรษัทภิบาลในกรณีสรยุทธ์-ช่อง3 เพื่อยกมาตรฐานจริยธรรมสังคม”
จากกรณีคำพิพากษาศาลอาญาตัดสินจำคุก นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และพวกโดยไม่รอลงอาญา จากคดีทุจริตค่าโฆษณา 138 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ในสังคมที่ให้ความสำคัญต่อขบวนการยุติธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เราคาดหวังจะเห็นจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและการเคารพต่อคำตัดสินด้วยการยุติบทบาท เป็นการชั่วคราว แต่คณะกรรมการผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้มีมติสนับสนุนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ยังคงดำเนินรายการในฐานะพิธีกรรายการข่าวของสถานี โดยนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนร่วมงานกัน อีกทั้งคดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ในชั้นศาล รวมทั้งมีการทำงานเป็นลักษณะครอบครัวเดียวกัน
กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นวิกฤตทางจริยธรรมของสังคมไทยอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง การที่ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนซึ่งเป็นหนึ่งในฐานอันดร 4 เป็นวิชาชีพหลักที่จะผดุงความเข้มแข็งของสังคม ปฏิเสธการแสดงความรับผิดชอบในวิชาชีพด้วยการยุติบทบาทชั่วคราวจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ และการที่องค์กรธุรกิจระดับประเทศที่ควรจะเป็นต้นแบบในการดำรงไว้ซึ่งบรรษัทภิบาล ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงถึงจุดยืนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่กลับสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับการกำหนดโทษโดยกฎหมาย ให้ทำหน้าที่ได้ต่อเสมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น เป็นสิ่งสะเทือนความเชื่อมั่นในความถูกต้อง ลดทอนความศรัทธาของภาคธุรกิจทั้งในสายตาของคนไทยและนานาประเทศเป็นอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สังคมไทยไม่ควรจะยอมรับและปล่อยให้ผ่านเลย เพราะสิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นและตอกย้ำ ความล้มเหลวของมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้แสดงจุดยืนทางด้านบรรษัทภิบาล เอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง แทนผลประโยชน์ส่วนตน ผู้เกี่ยวเนื่องนับจากนายจ้าง ผู้ว่าจ้าง บริษัทและองค์กรผู้ลงโฆษณา ล้วนสามารถแสดงบทบาทความรับผิดชอบของตนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ด้วยการไม่สนับสนุนหรือให้โอกาสแก่การทุจริตคดโกง และร่วมกันผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมสังคมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นเพียงอีกหนึ่ง “ข่าว” ที่เล่าสู่ แต่ต้องให้เป็นกรณีศึกษาถึงความเข้มแข็งของพลังสังคมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
คนไทยจะไม่ยอมให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม ธุรกิจไทยจะไม่สนับสนุนคนโกง มาร่วมกันสร้างความหวังให้กับประเทศ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)
2 มีนาคม 2559