ภัยแล้ง! นักวิชาการคาดข้าวนาปรังเสี่ยงเสียหายไม่ต่ำ 1-2 ล้านไร่
นักวิชาการชมรัฐบาล 'บิ๊กตู่' บริหารจัดการน้ำดี เเนะวิธีรับมือภัยแล้ง ปี 59 รัฐเข้มคุมสงครามแย่งน้ำ เกษตรกรปลูกพืชทนแล้ง เผยไทยไม่เคยขาดน้ำ ใช้ติด 1 ใน 5 ของโลก ให้คิดเอง สร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ แก้วิกฤตหรือไม่
วันที่ 2 มีนาคม 2559 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดแถลงข่าว ราชบัณฑิตให้ความรู้ เรื่อง รับมือภัยแล้ง 2559 ณ ห้องโถง ชั้น 1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยถึงสาเหตุของการเกิดภัยแล้ง ปี 2559 ว่า น้ำท่วม ปี 2554 ทำให้ประเทศเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ติดอันดับ 8 ของโลก ซึ่งนักบริหารจัดการน้ำมักโทษเกิดจากธรรมชาติ แต่ข้อเท็จจริงธรรมชาติมิได้ผิดปกติมากนัก หากมีความรู้ระบบกลไกโลก จะเข้าใจและเตรียมการรับมือได้ นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้เกิดโรคกลัวน้ำท่วม นำมาสู่การปรับเปลี่ยนเกณฑ์น้ำ และเกิดภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม หากอนาคตมีการบริหารจัดการน้ำแบบเดิม ศ.ดร.ธนวัฒน์ เชื่อว่า จะเกิดน้ำท่วมในปี 2560 ซ้ำรอยขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลในครั้งนี้ มิได้เตือนให้เฝ้าระวัง แต่เป็นการถอดบทเรียน
“ต้นทุนต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้การได้ 6,777 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 1พฤศจิกายน 2558) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายงดการปลูกข้าวนาปรังสำหรับฤดูแล้งปี 2559 แต่พบว่าวันที่ 15 มกราคม 2559 มีการปลูกข้าวนาปรังกว่า 3 ล้านไร่ ในเขตลุ่มเจ้าพระยา (รวมพื้นที่นอกเขตชลประทาน 1 ล้านไร่)” ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสาเหตุ และว่า ประกอบกับมีปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนถึงเดือนเมษายน 2559 ส่งผลให้ฤดูฝนปี 2558 เกิดฝนตกช้าประมาณ 2 เดือน และฝนตกน้อยกว่าค่าปรกติร้อยละ 8-24 ทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำไม่ได้จังหวะของธรรมชาติ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา จนก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูฝนปี 2558
สำหรับแนวทางการรับมือภัยแล้งในปีนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ต้องเตรียมใจรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับข้าวนาปรังที่อาจมีความเสียหายอย่างน้อย 1-2 ล้านไร่ เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย และหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ ต้องระวังและควบคุมอย่างเข้มข้นให้แผนการใช้น้ำเป็นไปตามแผนและเป้าหมายของรัฐบาล
นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องมีมาตรการที่เข้มข้นควบคุมสงครามแย่งชิงน้ำและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง รวมทั้งกำกับหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างเท่าทัน โดยไม่เชื่อตัวเลขหน่วยงานปฏิบัติมากเกินไป ส่วนภาคประชาชนในชนบทต้องให้ความร่วมมือไม่ทำสงครามแย่งชิงน้ำ แต่ควรทำตามนโยบายภาครัฐ
“คนเมืองจะต้องช่วยกันประหยัดน้ำด้วย ก่อนที่น้ำประปาจะหยุดไหล ควรสำรองน้ำประปาไว้ใช้อย่างน้อย 1 เดือน โดยเฉพาะภาคบริการ โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบการผลิตน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคควรเตรียมหาแหล่งน้ำดิบสำรองไว้มากกว่า 2 เดือน และพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินสำรองไว้กรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากฝนปีนี้มาช้ากว่าปกติ ต้องให้น้ำประปาไหลช้าลง ลดแรงดันน้ำ เพื่อให้ประชาชนประหยัดน้ำ”
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลปัจจุบันมีการบริหารจัดการน้ำดี คุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติคงยาก จึงขอชมเชย และไม่ต้องกังวลว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะไม่มีน้ำ ขอให้ทำใจสบาย ๆ เพียงแต่คนเมืองอาจต้องประหยัด ใช้น้ำเล่นให้น้อยลง เพื่อให้ชาวนามีน้ำใช้ ยิ้มได้กว้างขึ้น แบ่งปันความสุขร่วมกัน
“ไทยเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของโลก ที่มีการใช้น้ำมากที่สุด โดยร้อยละ 70 นำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม แต่ผลิตของถูกแข่งกันคนอื่นไม่ได้ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมามุ่งหาน้ำเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ดูประสิทธิภาพการใช้น้ำ ฉะนั้นควรกลับมามองการพัฒนาดิน และพันธุ์พืชมากกว่า”
เมื่อถามว่า หากไทยมีปริมาณน้ำมาก แนวคิดการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาภัยแล้งหรือไม่ ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าไทยจะเจอวิกฤตภัยแล้งหรือน้ำท่วม วิธีแก้ปัญหา คือ การสร้างเขื่อน จึงให้คำตอบไม่ได้ว่า ถูกต้องหรือไม่ ให้ไปคิดกันเอง แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยขาดน้ำ
ด้าน ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนเเปลงของสภาพทางกายภาพของโลก พบว่า อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส ใน 100 ปีที่ผ่านมา ถ้ายังไม่ยับยั้งหรือบรรเทา จะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ระดับน้ำทะเลรอบ 100 ปี ที่ผ่านมา สูงขึ้น 12 ซม. ซึ่งเป็นการยืนยันจากสถาบันหลายเเห่งของโลกที่มีชื่อเสียง โดยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นมีผลมาก เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงในบริเวณชายฝั่งที่มีระดับความลาดชันน้อย ดังเช่นอ่าวไทย ที่มีลักษณะเป็นรูปกระทะ มีความตื้นรอบ ๆ ทำให้จังหวัดแถบชายฝั่งทะเล เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เกิดภาวะการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น
“ขณะนี้พบน้ำทะเลหนุนสูงทางทิศตะวันตกของอ่าวไทย หรือเมื่อมีลมพัดคลื่นจะซัดกระแทกชายฝั่งมากขึ้น ทำให้ถนนพังทลายลง ทั้งหมดล้วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก” ราชบัณฑิต กล่าว .