กำแพงกั้นคลื่น มูลค่าหาดทราย: กรณีศึกษาหาดอ่าวน้อย
"มูลค่าที่เราใช้บริการจากระบบหาดทรายทุกวันตั้งแต่อดีตไกลโพ้นจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบก็คือ “การทำหน้าที่เป็นกำแพงกันคลื่นลมตามธรรมชาติของหาดทราย” เป็นการทำหน้าที่โดยวัฏจักรของธรรมชาติทำให้เกิดการสะสมตัวเป็นแผ่นดิน และยังคงทำหน้าที่เป็นกันชนรักษาชายฝั่งไว้ถึงปัจจุบัน"
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะในเขตพื้นที่อ่าวไทยนั้นเป้นปัญหาเรื้อรัง และทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ล่าสุดทีมผู้สื่อข่าว ได้ลงพื้นที่บริเวณชายหาดอ่าวน้อยและอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกำลังจะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นโครงการการก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและจังหวัดประจวบฯ
และจากแผนการพัฒนาในครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านลุกขึ้นมารวมกลุ่ม ในนาม "กลุ่มชาวอ่าวน้อยและคั่นกระไดผู้รักษ์ธรรมชาติ" รวมตัวกันเพื่อปกป้องพื้นที่อ่าว โดยเกรงว่าโครงการดังกล่าวนั้นอาจจะเกิดผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย
และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจคุณค่าของพื้นที่อ่าวบริเวณนั้นมากขึ้น ทางผู้ช่วยศาสตรจารย์ กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เขียนถึง มูลค่าของชายหาด โดยกล่าวว่า ชายฝั่งของไทยระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประจำถิ่นที่แตกต่างกัน แต่จะพบว่าชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยเฉพาะที่อ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ และอ่าวมะนาว ล้วนเป็นชายฝั่งที่รวมความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอันดามันและอ่าวไทยไว้ที่เดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นพื้นที่ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ อย่างไรก็ตามในความโดดเด่นนี้แต่ก็มีความเปราะบางมาก ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรมีกระบวนการดูแลด้วยความระมัดระวังและเข้าใจอย่างแท้จริง
อย่างไรที่ว่า “อันดามัน”
ขอยกกรณีตัวอย่างอ่าวน้อย เพื่อให้เห็นภาพชัด เอกลักษณ์อันดามันคือการเป็นอ่าวกระเปาะ ที่หาดทรายเป็นรูปโค้งเชื่อมระหว่างโขดหินเขาคั่นกระไดทางทิศเหนือและเขาตาม่องล่ายทางทิศใต้ ธรรมชาติงดงามด้วยองค์ประกอบของภูเขาหิน ความเขียวขจีของป่าชายหาด เนินทราย หาดทราย จึงเป็นพื้นที่ที่มีภูมิทัศน์งดงาม มีศักยภาพสูงในด้านการนันทนาการ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม เช่นเดี่ยวกับหาดกระตะ และหาดกะรน ฯลฯ ของภูเก็ต
“อ่าวไทย” นั้นเป็นอย่างไร
เอกลักษณ์โดดเด่นประจำถิ่นของอ่าวไทยคือ หาดทรายทอดยาวถักทอด้วยเม็ดทรายขาวเป็นผืนกว้างใหญ่ที่หน้าหาด โดยมีสันดอนใต้น้ำขนานอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งเคลื่อนตัวยืดหยุ่นไปตามฤดูกาล
"ชายฝั่งเป็นบริเวณที่น้ำตื้นเมื่อเทียบกับชายฝั่งอันดามัน และที่เป็นแหล่งรวมของสารอาหารจากแผ่นดินสู่อ่าวไทย ทำให้อุดมด้วยพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดที่เลื่องชื่อด้วยรสชาติ ที่สร้างสรรค์โดยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่"
มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์นั้น เป็นอย่างไร
ผศ. กัลยานี อธิบายว่า ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติกรณีหาดอ่าวน้อยนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ (Use Value) และมูลค่าด้านจิตใจ (Passive-use Value) ดังต่อไปนี้
1.มูลค่าการใช้ประโยชน์ ส่วนที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น การเป็นพื้นที่ใช้สอยของชาวบ้าน เช่น จอดเรือ ท่าขึ้นปลา แปรรูปอาหาร นันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นมูลค่าใช้ประโยชน์ทางตรง
"มูลค่าที่เราใช้บริการจากระบบหาดทรายทุกวันตั้งแต่อดีตไกลโพ้นจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบก็คือ “การทำหน้าที่เป็นกำแพงกันคลื่นลมตามธรรมชาติของหาดทราย” เป็นการทำหน้าที่โดยวัฏจักรของธรรมชาติทำให้เกิดการสะสมตัวเป็นแผ่นดิน และยังคงทำหน้าที่เป็นกันชนรักษาชายฝั่งไว้ถึงปัจจุบัน และจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปหากไม่มีสิ่งใดมารบกวน ภายใต้การทำหน้าที่นี้หาดทรายยังทำหน้าที่ด้าน “ระบบนิเวศ” ในการเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตในรอยต่อระหว่างบกและทะเลที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของมูลค่าใช้ประโยชน์ทางอ้อมของหาดทราย" ผศ.กัลยานีกล่าว
2. มูลค่าด้านจิตใจ เป็นมูลค่าการสะท้อนความต้องการเก็บหาดทรายไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ความต้องการให้หาดทรายคงอยู่ถึงแม้ตนเองจะไม่ได้ใช้ เช่น การที่ชุมชนที่หาดอ่าวน้อย(รวมถึงชาวไทยที่รู้จักหาดอ่าวน้อย) มีความรู้สึกที่ดีเมื่อทราบว่า หาดทรายที่หาดอ่าวน้อยยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สามารถรักษาไว้เป็นมรดกถึงลูกหลาน
"ในทางตรงข้ามจะรู้สึกเศร้าเสียใจหากทราบว่าหาดทรายที่อ่าวน้อยเสียหายไป มูลค่าความด้านจิตใจนี้เป็นความรู้สึกดีที่ต้องการให้หาดทรายยังคงอยู่ถึงแม้ตนเองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถประเมินได้อย่างมีนัยสำคัญ"
ผศ.กัลยานี กล่าวทิ้งท้ายว่า จากผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมา ต่างสรุปตรงกันว่ามูลค่าทรัพยากรธรรมชาติในส่วนที่เป็นการใช้ทางตรงหรือส่วนที่เราคุ้นเคยนั้น เปรียบสัดส่วนได้กับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่ลอยเหนือน้ำ และมูลค่าส่วนที่ใช้ประโยชน์ทางอ้อมและมูลค่าด้านจิตใจ เปรียบสัดส่วนได้กับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำ
ดังนั้นมูลค่ารวมของหาดทรายที่แท้จริงนั้นสูงกว่ามูลค่าที่เราสัมผัสได้มหาศาล และถ้าเป็นหาดทรายที่มีลักษณะพิเศษหรือมีสิ่งทดแทนได้น้อย เช่นหาดอ่าวน้อยนี้ มูลค่าจะยิ่งสูงมาก การตัดสินใจใดๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหาดอ่าวน้อย จึงต้องคำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของหาดอ่าวน้อย เพื่อป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเสียโอกาสอย่างไม่คาดคิดในอนาคต.