ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลชี้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง สาเหตุมาจากเขื่อนกั้นคลื่น
ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ชี้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องรักษาชายหาด เลิกสร้างกำแพงต้านคลื่น ย้ำยิ่งสร้าง ยิ่งทำลาย
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลในพื้นที่ บริเวณชายหาดอ่าวน้อยและอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงของชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชายฝั่งทะเล ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ทางเครือข่ายเฝ้าระวังชายหาด ซึ่งนำโดย นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ลงพื้นที่สำรวจ
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ชายหาดที่มีความลาดเอียงเป็นตัวกระจายความแรงของคลื่นอยู่ในธรรมชาติที่ดีที่สุด ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ในทะเลที่จะมีความแข็งแรงต้านแรงคลื่น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกำแพงทั้งแบบคอนกรีตหรือแนวหิน หรือกำแพงทั้งในแนวดิ่งหรือเป็นขั้นบันไดก็ตาม จะสังเกตได้ว่า พื้นที่ไหนที่มีการสร้างกำแพงไม่นานกำแพงจะพังลง เพราะโครงสร้างที่แข็งจะทำให้เกิดกระแสน้ำขุดลึกลงไปใต้ฐานของกำแพงจนเมื่อทรายด้านล่างหมดไป กำแพงก็พังลงมา อย่างกรณีที่ ชายหาดพัทยา ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวถึงการมีสิ่งกีดขวางคลื่น จะทำให้คลื่นเกิดกระแสที่เลี้ยวเบน ส่งผลต่อพื้นที่รอบข้าง ทำให้ชายหาดบริเวณนั้นค่อยๆ ลดลงไป และนั้นจะทวีความรุนแรงของการกัดเซาะ แต่กลับกัน หากมีชายหาด ไม่ว่าคลื่นจะแรงขนาดไหน สุดท้ายความลาดเอียงของหาดจะทำให้ คลื่นค่อยๆ สลายแรงลง หรือหากจะมีการเอ่อล้นของน้ำในบางฤดูกาลบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือการถอยร่นออกจากพื้นที่ริมชายฝั่ง ไม่ใช่ไปฝืนธรรมชาติ
"คนที่อยู่ถัดจากกำแพงกั้นคลื่นไม่เคยรู้เลยว่า สาเหตุที่พื้นที่ ที่ดินของตัวเองหายไป เป็นเพราะกำแพง ทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ผิดปกติ ทุกคนไปโทษว่าโลกร้อนทั้งหมด แต่ในความจริง คลื่นก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่มนุษย์ต่างหากที่นำสิ่งกีดขวางไม่กั้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล กล่าว
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ด้วยนั้น กล่าวว่า อ่าวมะนาว อ่าวประจวบ และอ่าวน้อยเป็นพื้นที่ชายทะเลที่ติดกัน มีภูเขาเป็นตัวกั้น สภาพคลื่นลมไม่ต่างกัน ดังนั้นหากจะมีการกัดเซาะ เพราะภาวะโลกร้อนหรือลมเเรง จะต้องกัดเซาะเหมือนกันทุกอ่าว แต่หากลองดูสภาพของอ่าวมะนาวจะพบว่า มีความปกติกว่าจุดอื่น
"หลายเดือนก่อนมีข่าวคลื่นยักษ์สูง4-5เมตรในอ่าวประจวบ แต่ขณะเดียวกันที่อ่าวมะนาวกลับไม่มี ถามว่า ทำไมเป็นอย่างนั้นในเมืองภูมิประเทศใกล้เคียงกัน เพราะที่อ่าวประจวบมีกำแพงที่มากั้นคลื่นนั้นเอง ยิ่งกันก็ยิ่งแรง ในส่วนของอ่าวน้อยในรายงานของกรมชายฝั่งก็ไม่ใช่พื้นที่ของการกัดเซาะ มีแค่การเฝ้าระวังเล็กน้อยในหน้ามรสุมเท่านั้นเอง ซ้ำยังเป็นพื้นที่มีชายหาดสมบูรณ์ที่สุดด้วย ดังนั้นอ่าวน้อยไม่มีความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างที่จะมาป้องการกัดเซาะชายฝั่ง ทางแก้ไขที่ดีคืออย่างไปแก้อะไร ปล่อยให้ธรรมชาติเซ็ตตัว ” นายศศิน กล่าว
นอกจากนี้ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวอีกด้วยว่า ที่ผ่านมาป้องกันพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยนั้น ล้มเหลวมาโดยตลอด ซ้ำยังสร้างความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจกับทุกคนว่า หากประเทศนี้ไม่ต้องการหาดทรายแล้วก็ไม่ต้องรื้อ และต้องเตรียมเงินมหาศาลเอาไว้ซ่อมด้วย เพราะอย่างไรเราไม่อาจไม่ฝืนธรรมชาติได้ และอย่าลืมว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันคลื่นลมคือหาดทราย
"สิ่งที่ทางรัฐบาลควรทำ ไม่ใช่เอาเงินมาถลุงกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ยั่งยืน แต่ควรเตรียมความพร้อมสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนริมชายฝั่ง ต้องมีแผนย้ายผู้คนริมชายฝั่งออก รวมทั้งการสร้างแนวถอยร่นให้ชัดเจน"
ทั้งนี้ นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวบ้านในชุมชนอ่าวคั่นกะได กล่าวถึงพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องของน้ำทะเลเอ่อล้นจริง แต่เป็นในช่วงที่มีลมมรสุมเข้าเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีก็จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เพียงแค่2-3 เดือน แต่การที่จะสร้างเขื่อนกั้นลงไปทะเลจะส่งผลต่อชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน เพราะไม่สามารถนำเรือขึ้นบนฝั่งได้ ซ้ำหากสร้างคอนกรีตลงไป มีโอกาสที่เรือที่จอดไว้ในอ่าวกระทบกับเขื่อนสร้างความเสียหาย อย่างที่เคยเกิดในขณะนี้ ที่มีการนำเอาท่อนไม้มากั้นพื้นที่ชายหาด ดังนั้นหากทางการจะสร้างแนวป้องกัน ควรสร้างบนชายฝั่ง ไม่ใช่สร้างลงไปบนชายหาด.