"หญิง-เด็ก"เหยื่ออาวุธ "หม้าย-กำพร้า"ครึ่งหมื่น ได้เวลาจับมือยุติรุนแรงชายแดนใต้
"เฉพาะปี 2554 มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศสูงถึง 315 ราย และข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2547-2554 มีผู้มาขอรับบริการรวม 320 คน แบ่งเป็นถูกทำร้าย 133 คน และถูกล่วงละเมิดทางเพศ 187 คน อายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 13-15 ปี และอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เพราะไม่รู้หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร"
นี่คือสถานการณ์อันน่าวิตกของความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง ซึ่งได้รับการบอกเล่าจาก ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ในกิจกรรมวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 25 พ.ย.ที่ผ่านมา
ภาพรวมของปัญหาดูจะยังไม่อาจอธิบายครอบคลุมถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงรายวันจากการใช้อาวุธมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และนั่นทำให้สวัสดิภาพของเด็กและผู้หญิงในดินแดนแห่งนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง
"เหตุการณ์ความไม่สงบได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของเด็กและผู้หญิงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ทำให้ขาดโอกาสหรือมีบทบาทมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยรวม ฉะนั้นในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสงบสุข สันติสุข ผู้หญิงและเด็กได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย" เป็นข้อเสนอของผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง
ขณะที่ รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเกือบ 8 ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรีอย่างกว้างขวาง จากข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่ามีหญิงหม้ายกว่า 2,200 คน เด็กกำพร้ากว่า 4,700 คน และที่น่าเป็นห่วงก็คือ พบผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรงมากขึ้นด้วย
"ฉะนั้นในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล (25 พ.ย.) และเป็นช่วงก่อนครบ 8 ปีไฟใต้ จึงอยากเห็นทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และพี่น้องประชาชนเองช่วยกันคนละไม้ละมือ ทำบ้านทุกบ้านให้เป็นบ้านที่ปลอดภัย ถนนทุกสายปลอดจากภัยทางเพศ และชุมชนทุกชนเป็นเขตปลอดอาวุธ"
เป็นความคาดหวังขององค์กรในพื้นที่ที่ร่วมกันจัดงานวันยุติความรุนแรงฯ
รู้จักวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดให้วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปีเป็น "วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้หญิงชาวโดมินิแกน 3 คนที่ถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการเมื่อปี พ.ศ.2503
คำว่า "ความรุนแรง" ในที่นี้หมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดจากอคติทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือภาวะสงครามด้วย
รูปแบบของความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศ มีตั้งแต่การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ลวนลาม คุกคามทางเพศ การข่มขืน รุมโทรม การข่มขืนแล้วฆ่า
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรสตรี องค์กรแรงงาน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาได้รนำเสนอมาตรการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงต่อรัฐบาล สาธารณชน และสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข
ในปี พ.ศ.2542 รัฐบาลได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ศูนย์พึ่งได้" โดยทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพเพื่อให้บริการและช่วยเหลือผู้หญิงกับเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง และให้เดือน พ.ย.ของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"
ปี พ.ศ.2543 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบกับนโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กระทั่งในปี 2550 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2550 โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ถูกกระทำและผู้พบเห็นเหตุการณ์มีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุเพื่อหยุดความรุนแรงนั้น
ผู้หญิงคือพลัง...สร้างสันติภาพ
วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะมีกิจกรรมรณรงค์ของกลุ่มผู้หญิงหลากหลายองค์กร เพื่อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันยุติความรุนแรง และในปีนี้ก็เช่นกัน
เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้จับมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ "รวมพลังผู้หญิง ยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ" และ "เดินรณรงค์ยุติความรุนแรง" ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ, เยาวชน, นิสิตนักศึกษา และแกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคม, กลุ่มองค์กรชุมชน 25 องค์กร จำนวนกว่า 800 คน ร่วมขบวนเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงจากหน้าอาคารออมทอง ใกล้โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ไปยังหอประชุมนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยใช้สโลแกน "บ้านทุกบ้านต้องเป็นบ้านที่ปลอดภัย ถนนทุกสายปลอดจากภัยทางเพศ ชุมชนทุกชุมชนเป็นเขตปลอดอาวุธ"
ความเคลื่อนไหวจากเวทีสาธารณะนับว่าน่าสนใจ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การใช้ "พลังผู้หญิง" เพื่อแก้ไข คลี่คลาย เยียวยาและยุติความรุนแรง เป็นแนวทางที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะบทบาทของ "ผู้หญิง" ในฐานะแม่ของลูกและภรรยา สามารถนำพาครอบครัวก้าวข้ามวิกฤติปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ทัศนะของผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีหลายคนนับว่าน่าสนใจ
วิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความนุ่มนวล ละเมียดละไม อ่อนโยน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่งดงาม เชื่อว่าความเย็นจะไปสยบความแข็งกร้าวหรือความรุนแรงได้ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมียุทธศาสตร์สานพลังเครือข่าย ช่วยขับเคลื่อนชาวบ้านและองค์กรต่างๆ ในด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ์ ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้หญิงรวมตัวกันมากๆ เพราะเชื่อว่าพลังผู้หญิงจะนำสันติสุขมาสู่พื้นที่นี้ได้อย่างแน่นอน
พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและติดตามพิเศษ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การยุติความรุนแรงในพื้นที่นั้น ครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามามีบทบาทดูแลลูกหลานมากขึ้นกว่าเดิม ผู้หญิงแสดงบทบาทได้เยอะ และเชื่อว่าจะช่วยลดเรื่องยาเสพติด ลดเด็กที่จะโดนชักจูงไปในทางที่ผิดได้ เพราะสันติภาพต้องเริ่มต้นจากครอบครัว
นิสา กอและ ประธานเด็กและเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ (กลุ่มเกี่ยวก้อย) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว จึงหวังอยากเห็นผู้นำครอบครัวให้ความสำคัญ ทั้งด้านการใส่ใจและให้การมีส่วนร่วมของเด็กๆ เยาวชน และสมาชิกทุกคนในครอบครัว เพราะต้องไม่ลืมว่าเยาวชนก็เป็นตัวละครตัวหนึ่งในสังคมนี้เหมือนกัน
"ฉันเป็นคนหนึ่งต้องสูญเสียพ่อไป แต่ฉันก็พยายามใช้วิกฤติที่เกิดกับตัว เป็นโอกาสและเป็นพลังในการลุกขึ้นสู้ จึงอยากเห็นเยาวชนและสตรีทุกคนอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่คิดว่าตัวเองเป็นช้างเท้าหน้าหรือช้างเท้าหลัง แต่เราจะต้องเดินไปด้วยกัน ถ้าทำได้ฉันเชื่อว่าสันติภาพจะอยู่ไม่ไกล" นิสา บอก
มารีนา แวดือเร๊ะ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ไม่อยากให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ต้องมาเผชิญกับความสูญเสียเหมือนตัวเธอ อยากเห็นความรัก ความสามัคคี ความเข้าใจกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน และอยากเห็นความสงบสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่เสียที เพราะเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา เจ็บปวดมามากพอแล้ว
ขณะที่ รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวปิดท้ายว่า แม้วันนี้จะยังไม่มีฝ่ายไหนออกมายืนยันได้ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยได้เต็มร้อย แต่ถ้าทุกองค์กรทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ ก็เชื่อว่าจะเป็นพลังสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน
จี้ลดกองกำลังติดอาวุธ-ทำฐานข้อมูลเหยื่อที่เป็น "เด็ก-สตรี"
ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มีองค์กรภาคี 25 องค์กรในพื้นที่ชายแดนใต้ ภาคองค์กรภาครัฐและประชาสังคม ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อพิทักษ์และคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้หญิง เด็ก ครอบครัว และชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอเพื่อการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อให้รัฐบาลมีมาตรการดังนี้
1.รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ โดยเฉพาะในโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
2.รัฐบาลต้องส่งเสริมการรวมกลุ่ม สนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมพลังเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเด็ก เยาวชน สตรี และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง พึ่งตนเองและช่วยเหลือสังคมได้
3.รัฐบาลต้องให้การคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว และชุมชน โดยการส่งเสริมเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทุกกรณี
4.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและสตรีเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี โดยการลดหน่วยกองกำลังติดอาวุธ หรือการพกพาอาวุธในสถานศึกษา
5.รัฐบาลต้องสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเด็กและกองทุนผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน โดยให้ภาครัฐ ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการการวางแผน และติดตามประเมินผลร่วมกัน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 รอซิดะห์ ปูซู นิสา กอและ กับ พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ (รวมภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)
2-4 บรรยากาศการเดินรณรงค์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี
5-7 เวทีสาธารณะที่หอประชุมนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)