2องค์กรวิชาชีพสื่อทีวีแถลงถามหาจริยธรรมช่อง3 ยุติบทบาท "สรยุทธ"
"..แม้กรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่ามีหลักฐานเพียงพอว่า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางด้านอาญาและด้านจริยธรรม เพราะฉะนั้น สังคมจึงมีความคาดหวังว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ จะแสดงความรับผิดชอบและเป็นตัวอย่างในการวางมาตรฐานจริยธรรมด้วยการให้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยุติบทบาทหน้าจอ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะสิ้นสุด.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การทบทวนการทำหน้าที่ของพิธีกรข่าว
------
จากการที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ให้จำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทไร่ส้ม จำกัด เป็นเวลา ๑๓ ปี ๔ เดือน ในข้อหาทุจริตค่าโฆษณาของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และต่อมา นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ในเวลาต่อมา ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ได้มีมติให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำหน้าที่ต่อไป โดยนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากกรณีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา มาร่วมงานกับสถานี และคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิกระดับองค์กรและระดับบุคคลของสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับความคิดเห็นและปฏิกิริยาของส่วนต่าง ๆ ในสังคม และมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนไทยในภาพรวมซึ่งกำลังอยู่ในภาวะที่ถูกสังคมตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
ถึงแม้กรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่ามีหลักฐานเพียงพอว่า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางด้านอาญาและด้านจริยธรรม เพราะฉะนั้น สังคมจึงมีความคาดหวังว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ จะแสดงความรับผิดชอบและเป็นตัวอย่างในการวางมาตรฐานจริยธรรมด้วยการให้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยุติบทบาทหน้าจอ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
สื่อมวลชนไทยได้ยึดมั่นในหลักการของการกำกับและดูแลกันเองเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับเสรีภาพในการรายงานข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นมาตลอด แต่จุดยืนของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ ต่อกรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำให้หลักการของการกำกับดูแลกันเองของสื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น และเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการให้มีกลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมและลงโทษสื่อที่ละเมิดจริยธรรม
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ ทบทวนการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๑ มีนาคม ๒๕๕๙