ส่อทับซ้อน! ร้อง ป.ป.ช.สอบอดีตผู้บริหารการบินไทยปมตั้งสายการบิน‘นกสกู๊ต’
‘โยธิน-สุเทพ-พล.ร.อ.บรรณวิทย์’ นำทีมร้อง ป.ป.ช. สอบอดีตผู้บริหารการบินไทย-ผู้บริหารนกแอร์ ปมจัดตั้งสายการบิน ‘นกสกู๊ต’ ร่วมบริษัทลูกสิงคโปร์แอร์ไลน์ ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน-ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขัดกับการบินไทย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายโยธิน ภมรมนตรี นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีอดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กระทำการอันถือได้ว่าส่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานทำให้การบินไทยได้รับความเสียหาย เนื่องจากการก่อตั้งสายการบินนกสกู๊ต
โดยทั้งสามราย ร้องเรียนว่า เมื่อปลายปี 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 39.2 อนุมัติให้ลงนามในบันทึกความตกลงแบบไม่มีเงื่อนไขผูกผันในการจัดตั้งสายการบินราคาประหยัด ชื่อ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด โดยให้สายการบินนกแอร์เข้าทำสัญญาระหว่าง บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด (บริษัทลูกของนกแอร์) กับ SCOOT PTE LTD. (สกู๊ต) บริษัทลูกของ Singapore Airlines (มีเทมาเส็กถือหุ้นใหญ่)
ทั้งนี้ในรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 ปรากฏชื่อบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50% และนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ถือหุ้น 50% โดยมีชื่อของนายพาที และนายโชคชัย ปัญญายงค์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทอีกด้วย
ส่วนบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2556 ชื่อเดิมบริษัท พีทแอร์ จำกัด ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2557 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 2 พันล้านบาท ปรากฏชื่อนายโชคชัย เป็นกรรมการบริษัท
นอกจากนี้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ยังอนุมัติการให้กู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 970 ล้านบาท แก่บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด เพื่อให้บริษัทลงทุนได้ ซึ่งการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ถือว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ให้ความยินยอมและสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย
ดังนั้นกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงประมาณปลายปี 2556-ต.ค. 2557 มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท หรือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นการที่กรรมการและผู้ถือหุ้นลงมติในการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด อันเป็นการประกอบกิจการแข่งขันและขัดกับผลประโยชน์บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“การที่สายการบินนกสกู๊ตได้รับอนุญาตให้ทำการบินในเส้นทางใดแล้ว ถ้าสายการบินนกสกู๊ตมีเส้นทางการบินเส้นทางเดียวกับการบินไทยแล้ว ก็เท่ากับว่าจะต้องมีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจสายการบินกับการบินไทยอย่างชัดเจน จึงเป็นกรณีที่มีผลประโยชน์ขัดกับการบินไทยอย่างชัดแจ้ง” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ระบุ