แรงงานโวย รง.ใช้ข้ออ้างน้ำท่วมปลดคน หนีค่าแรง 300บ.
แรงงานโฮยาฯชุมนุมร้องถูกบีบตกงานเพราะบริษัทอ้างขาดทุนทั้งที่มีกำไร คสรท.ฉะสถานประกอบการเลิกจ้างคนใช้เครื่องจักรแทน ทีดีอาร์ไอจี้รัฐรีบช่วยตกงานแน่นอน 2 แสน-เสี่ยง 7 แสนคน
จากกรณีที่บริษัทโฮยา กลาส ดิสก์ ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เลิกจ้างพนักงานกว่า 2,000 คน วันที่ 11 พ.ย.-30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุน แต่จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ผลกำไรบริษัทฯล่าสุดปี 2553 มี 591 ล้านบาท และยังขยายการดำเนินงานไปยังฟิลิปปินส์และเวียดนาม ทำให้สหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายเพิ่มค่าจ้าง 40% ในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่แทนกำลังคน
วันที่ 7 ธ.ค.ที่หน้าศาลกลางจังหวัดลำพูน ตัวแทนพนักงาน บ.โฮยาฯกว่า 50 คนที่ถูกเลิกจ้างนำโดยนายอัครเดช ชอบดี มาชุมนุมพร้อมยื่นหนังสือขอช่วยเหลือกรณีถูกนายจ้างบีบออกจากงาน ต่อนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน โดยมีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมลำพูนร่วมรับฟังโดย นายอัครเดช กล่าวว่าบริษัทมีผลกำไรแต่อ้างว่าขาดทุนอ้างสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องเลิกจ้าง มองว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลงการผลิตโดยใช้เครื่องจักรใหม่แทนกำลังคนเพื่อเลี่ยงนโยบายเพิ่มค่าจ้างรัฐบาล เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานต่อเนื่อง
ตัวแทนสหภาพแรงงาน บ.โฮยาฯ ยังกล่าวว่า บริษัทอาจจงใจทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ย้ายกรรมการสหภาพไปรวมกันในโรงงานที่ 2 ที่มีการเลิกจ้าง
ด้านผู้ว่าฯลำพูน กล่าวว่าจะเชิญผู้บริหารบริษัท สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เจรจากับตัวแทนแรงงานเพื่อร่วมหาทางออกวันที่ 9 ธ.ค. แต่ขอให้แรงงานทำใจหากบริษัทเลิกจ้าง ซึ่งทางกระทรวงแรงงานและรัฐบาลมีโครงการจ้างแรงงานระยะสั้น ฝึกอบรมอาชีพโดยให้มีรายได้ช่วงที่มีการฝึกอบรม
ส่วน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่าบริษัทโฮยา มีพนักงาน 4,500 คน และประสบปัญหาคำสั่งซื้อลดลงทำให้ต้องลดพนักงานลง ซึ่งบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมายโดยให้มีการเออรี่รีไทร์ตามสมัครใจและจ่ายค่าชดเชย ส่วนที่มีสหภาพแรงงานออกมาประท้วง อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งมอบหมายสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูนเข้าไปไกล่เกลี่ยแล้ว อย่างไรก็ตามหากสหภาพแรงงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถมาร้องเรียนต่อได้
ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้กระทรวงแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แรงงานต้องถูกไล่ออกและสถานประกอบการต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นตัวอย่างให้กับที่อื่น
“ตอนนี้แรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกมักจะถูกฉวยโอกาสจากข้ออ้างว่าน้ำท่วม ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะกับแรงงาน แต่ต้องรวมถึงครอบครัวของแรงงานเหล่านั้นด้วย” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
ด้าน ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินหรือลงทุนซื้อเครื่องจักรแทนแรงงาน เพราะต้นทุนด้านแรงงานจะเพิ่มขึ้น 5-6% หากมีการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำขึ้น 40% ทำให้ต้องมีการปรับกระบวนการผลิตลดต้นทุน โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและใหญ่ รัฐต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานและไม่ให้เป็นแบบอย่างแก่สถานประกอบการอื่น
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า จะมีแรงงานกว่า 6-7 แสนคนเสี่ยงตกงาน ประมาณ 20-30% หรือ 1.4-2 แสนคนตกงานแน่นอน เนื่องจากบริษัทหรือเอสเอ็มอีที่ฐานไม่แน่นพอจะอยู่ไม่ได้ ทำให้สถานประกอบการอาจปรับตัวไปใช้คนงานเหมาช่วง 70% ส่วนคนงานประจำใช้ 30% เหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะในระยะยาวจะประหยัดต้นทุนกว่า เหมาะกับสภาพการสั่งผลิตสินค้าที่ไม่แน่นอน ในตลาดการแข่งขันสูง
“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาก่อน เช่น เข้าไปให้ความรู้แรงงาน ร่วมกับสมาคมทนายความ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยบกับสิทธิแรงงาน ประสานกับกรมการจัดหางานในการหาตำแหน่งงานรองรับและเคลื่อนย้ายแรงงานไปในภาคส่วนที่ยังขาดแคลนอยู่ เช่น ภาคตะวันออก หรือแถวนครราชสีมา” ดร.ยงยุทธ กล่าว
ดร.ยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติม ว่าส่วนบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมอยากให้ทางรัฐประสานกับสถานประกอบการเพื่อให้ข้อมูลกับแรงงานทุกอาทิตย์ โดยอาจจะให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนไว้ แล้วทางรัฐจะประสานงานให้ เพื่อให้แรงงานทราบอนาคตการทำงานของตัวเอง.
ที่มาภาพ : http://hilight.kapook.com/view/60841