นักวิชาการแนะ “เก็บภาษีน้ำท่วม” ช่วยเกษตรกร”
ชาวนาโวย รบ.แจกพันธุ์ข้าวด้อยคุณภาพ เตรียมตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ช่วยกันเอง นักวิชาการจี้รัฐรับผิดชอบบริหารน้ำพลาด แนะออกภาษีน้ำท่วมใช้เป็นเบี้ยประกันพืชผล วอนคุมโรงสีไม่ให้กดราคาจำนำ
วันที่ 7 ธ.ค. 54 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน และสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม จัดสัมมนา “การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อยหลังวิกฤตน้ำท่วม” โดยนายนพดล มั่นศักดิ์ ประธานมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ กล่าวว่า แม้ว่าวิกฤตน้ำท่วมคลี่คลายลงมาก แต่พื้นที่นายังท่วมขังอยู่ ส่งผลให้พันธุ์ข้าวเสียหายหนักกว่าปี 38 และ 49 แต่คาดการณ์ว่าจะกลับสู่ปกติในสิ้นปี
ทั้งนี้เครือข่ายฯจะจัดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นวันที่ 12 ธ.ค. และตั้งกองทุนหมุนเวียนเมล็ดพันธุ์ข้าวช่วยเหลือกันเอง โดยความร่วมมือจากเกษตรกรทุกภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกพืชระยะสั้นแทนการปลูกข้าวในฤดูมรสุม เช่น มะเขือ ถั่วฝักยาว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“เมล็ดพันธุ์ข้าวที่รับจากภาครัฐมีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะขยายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตได้ เนื่องจากพันธุ์ข้าว ต. 1 ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ภาครัฐจึงควรให้เงินช่วยเหลือแทน เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์เองได้ตรงตามต้องการ นอกจากนี้ต้องควบคุมราคาจำนำข้าวของโรงสีไม่ให้กดราคาต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนด” นายนพดล กล่าว
ขณะที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า
อุทกภัยครั้งนี้เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.มิติของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้ฝนมีปริมาณมากขึ้นช่วง ส.ค.- ก.ย. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จนมีผลกระทบต่อเนื่องยังพื้นที่ราบลุ่ม
2.มิติความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวัฒนธรรมจากชุมชนเกษตรสู่ชุมชนอุตสาหกรรม ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีผลให้เกษตรกรขาดทักษะชีวิตและอุปกรณ์พื้นฐานที่เพียงพอในการจัดการน้ำท่วม ซึ่งแตกต่างจากคนในอดีตที่เตรียมพร้อมดีกว่า
3.มิตินโยบายการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเป็นพื้นที่มีระบบจัดการน้ำที่ซับซ้อน ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลองชลประทาน ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ภาครัฐจึงมีขีดความสามารถในการกักกันน้ำจนสามารถป้องกันพื้นที่บางแห่งได้ ขณะเดียวกันกลับส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกแนวป้องกัน จนสร้างความแตกแยกได้ เช่น กรณีการวางบิ๊กแบ๊ก
ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า จากสาเหตุดังกล่าวส่งผลต่อความเสียหายภาคเกษตรกรรม 3 ลักษณะ คือ 1. ความเสียหายของผลผลิตและทรัพย์สินในช่วงอุทกภัย จากการถูกน้ำท่วมโดยตรง เช่น ผลผลิตข้าวที่ยังมิได้เก็บเกี่ยวต้องจมน้ำ ปลาในบ่อเลี้ยงไปกับกระแสน้ำ รวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินเพื่อการเกษตร
2. ความสูญเสียโอกาสอันเนื่องมาจากอุทกภัย เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถทำการผลิตได้ช่วงอุทกภัย รวมถึงหลังอุทกภัยจนกว่าจะฟื้นฟูขึ้นใหม่ เช่น ไม่สามารถทำนารอบใหม่ได้จนกว่าน้ำจะลด หรือชาวสวนต้องรอจนกว่าไม้ผลรอบใหม่จะให้ผลผลิตอีกครั้ง
3. ความสูญเสียที่ตามมาหากไม่สามารถฟื้นฟูได้หรือฟื้นฟูได้ช้า โดยหากไม่สามารถฟื้นฟูการผลิตได้
รวดเร็วเพียงพอกับความเสียหายสองส่วนแรกที่เกิดขึ้น เกษตรกรต้องตกอยู่ในภาวะหนี้สินที่มากขึ้น และอาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ขายที่ดินเพื่อชำระหนี้สิน เป็นต้น
“การช่วยเหลือชดเชยและฟื้นฟูครัวเรือนเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐจึงควรสร้างระบบความรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ รวมถึงสร้างกลไกการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม โดยนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป้องกันอุทกภัยเป็นพิเศษ ผ่านภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม โดยนำภาษีส่วนหนึ่งเป็นค่าเบี้ยประกันสำหรับการประกันภัยพืชผลของเกษตรกร ” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าว.