ช่อง 3 โยน บ.ไร่ส้ม ตัดสินใจ เปลี่ยน"สรยุทธ"'-องค์กรต้านโกงถามหาจริยธรรม
ฝ่ายรายการ ช่อง 3 เผยศาลตัดสินจำคุก 'สรยุทธ' ไม่กระทบผังรายการสถานี ระบุเป็นเรื่องส่วนบุคคล ให้ 'เรื่องเล่าเช้านี้' ออกอากาศตามปกติ เปลี่ยนผู้ดำเนินรายการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ บ.ไร่ส้ม ด้าน 'มานะ นิมิตรมงคล' เผยหากเป็น ขรก.ถูกชี้มูลความผิด จะมีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ให้ต้นสังกัดใช้ดุลยพินิจ
จากกรณีศาลอาญาพิพากษาตัดสินให้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จำคุก 20 ปี ลดโทษเหลือ 13 ปี 4 เดือน สั่งปรับ บริษัท ไร่ส้ม 120,000 บาท ลดเหลือ 80,000 บาท ไม่รอลงอาญา ในฐานสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดจัดคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เกินเวลา สร้างความเสียหาย 138 ล้านบาท ขณะที่ นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด จำคุก 30 ปี ลดโทษเหลือ 20 ปี (อ่านประกอบ:ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สอบถามเพิ่มเติมไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้รับการเปิดเผยว่า คำพิพากษาตัดสินจำคุกนายสรยุทธ จะไม่มีผลกระทบต่อผังรายการของช่อง เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล รายการที่ผลิตโดยบริษัท ไร่ส้ม ทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น รายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ยังคงออกอากาศตามปกติ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินรายการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับช่อง
หากเป็น ขรก.ถูกชี้มูลความผิด จะมีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีคดีไร่ส้ม ของสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นบุคคลสาธารณะ และถือเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำตัดสินออกมาแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้นว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นเหตุการณ์จริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
“จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของต้นสังกัดซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนจะตัดสินใจโดยใช้ดุลยพินิจ ว่าควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อกรณีดังกล่าวอย่างไร เนื่องจากหากเป็นข้าราชการที่ถูกชี้มูลความผิด ก็จะมีการพักการปฏิบัติหน้าที่ หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการคำตัดสินออกมา”
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวด้วยว่า องค์กรสื่อถือเป็นแบบอย่างในสังคม เมื่อมีบุคคลที่มีชื่อเสียงถูกตัดสินจากศาลว่าทุจริต ในฐานะที่องค์กรต้นสังกัดที่ทำงานจะต้องทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบควรจะทำอย่างไร เขาจะต้องตัดสินใจ เพราะกฎหมายบังคับไม่ได้ เพราะนี่คือเรื่องของการมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตามคำตัดสินที่ออกมานั้นเป็นคำตัดสินของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในคดียังมีสิทธิอุทธรณ์และหาหลักฐานมาสู้คดีได้ ซึ่งจะต้องช่วยกันติดตามต่อไป
“คดีที่ตัดสินในวันนี้เป็นเพียงศาลชั้นต้นที่ตัดสินออกมา ซึ่งคดีเกี่ยวกับการทุจริตในแวดวงราชการ ไม่ว่าจะเป็นใคร ศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยไม่ได้สนใจว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ฉะนั้นจึงเป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่งว่าใครที่จะหาผลประโยชน์ด้วยการโกงชาติโกงแผ่นดิน หากทุจริตต้องถูกลงโทษ” ดร.มานะ กล่าว
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ fanthai.com