ยูเนสโกวาง 6 มาตรการ ดึงเด็กนอกระบบ 18ล้านคน กลับเข้าเรียน
ประชุมสุดยอดการศึกษา ประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เห็นชอบวาง6 มาตรการ ดึงเด็กกว่า 18 ล้านคน กลับสู่ระบบการศึกษา กำหนดให้กระทรวงศึกษาฯแต่ละประเทศดูเเล เฝ้าติดตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ในเวทีการประชุมสุดยอดทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อหารือและวางนโยบายโรดแม็พพาเด็กนอกระบบ 18 ล้านคน คืนสู่ระบบการศึกษา
โดยในวันสุดท้าย ได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง และผู้บริหารองค์การยูเนสโก และยูนิเซฟ เข้าร่วมเป็นประธานการรับฟังข้อเสนอจากที่ประชุมในและกล่าวปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งภายหลังการประชุมอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน ตัวแทนองค์การด้านการศึกษาของประเทศต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่านวัตกรรมทางการศึกษามีความสำคัญยิ่งในทุกขั้นตอนต่องานพัฒนาการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย การเงิน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงการจัดการของสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันลดช่องว่างทางการศึกษาของกลุ่มเด็กนอกระบบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีแนวทางร่วมกันที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ โดยอาศัย 6 ประการสำคัญได้แก่
1) สนับสนุนการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น (Flexible Learning Strategies and Innovation) และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแก่เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนที่เคยอยู่นอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล
2) สนับสนุนการใช้นวัตกรรมทางการเงินการคลังเช่นกองทุนการศึกษาจากภาษีวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เพื่อปิดช่องว่างทางการเงินที่จำเป็นต่อการขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้หมดไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกข้อที่ 4 (SDG 4) ภายในปี 2030
3) การสร้างภาคีการทำงาน (Partnership) ระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อแก้ไขอุปสรรคทางการศึกษาที่หลากหลายสำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา
4) ขจัด 7 ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความพิการ ชนกลุ่มน้อย การบังคับใช้แรงงานเด็ก ผลกระทบจากภัยพิบัติและสงคราม สถานะไร้สัญชาติ และการอพยพย้ายถิ่นฐาน
5) สนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้แก่เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้อย่างยั่งยืน และ
6) ส่งเสริมให้รัฐบาลทุกประเทศจัดส่งข้อมูลสถิติเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แก่สถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) และรายงานต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี รวมทั้งยกระดับศักยภาพการทำงานด้านข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อสนับสนุนการติดตามผลการทำงานตามเป้าหมาย SDG 4
ทั้งนี้ในที่ประชุมมีมติเห็นตรงกันว่า ให้กระทรวงศึกษาฯของแต่ละประเทศในฐานะหน่วยงานโดยตรงมีหน้าที่หลักในการริเริ่มทำงานติดตามและประเมินผลจำนวนเด็กนอกระบบอย่างต่อเนื่องและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ด้านการศึกษาเพื่อเด็กนอกระบบอย่างยั่งยืน รวมถึงควรรายงานยอดเด็กนอกระบบทุกปีกับคณะกรรมการด้านการศึกษานอกระบบที่มียูเนสโกเป็นหัวเรือใหญ่