กระทรวงต่างประเทศแจงรายงานสิทธิมนุษยนชน แอมเนสตี้ฯ ขาดความสมดุล
กระทรวงการต่างประเทศยืนยัน ในประเด็นเรื่องเสรีภาพของประชาชน วัดได้จากสื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี ชี้ชัดขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความสามัคคีภายในชาติ และประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน
กรณีองค์กร Amnesty International (AI) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ขององค์กร Amnesty International นั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจง ดังนี้
ตามที่องค์กร Amnesty International (AI) ได้จัดทำและเผยแพร่รายงานด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก (The State of the World’s Human Rights) นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้
รายงาน AI ประจำปี ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี ๒๕๕๘ โดยให้ภาพรวมของ ๑๖๐ ประเทศใน ๕ ภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน และในปีนี้ สำนักงาน AI ทั่วโลก ได้จัดงานเปิดตัวรายงานประจำปี ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ พร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
รายงานดังกล่าวมิได้คำนึงถึงบริบทที่ท้าทายในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกกับความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองหวนคืนมาอีก ดังนั้น จึงถือได้ว่ารายงานนี้ขาดความสมดุลและไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะ และไม่สะท้อนถึงพัฒนาการเชิงบวกอันเป็นผลจากการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาลในหลายประการ เช่น การแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ ทั้งในเรื่องการมีบทบาทนำของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย การจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายของไทย จำนวน ๑๖๔ ฉบับ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การออก พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘
รวมทั้งมีนโยบายสำคัญ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ) และการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว
ในประเด็นเรื่องเสรีภาพของประชาชนนั้น ขอยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสาคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ดังเห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความสามัคคีภายในชาติ และประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีรับฟังความคิดเห็นและการแสดงความห่วงกังวลของภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กร AI ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองจากภายนอก ทั้งนี้ การหารือและการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนโครงการด้านสังคมต่างๆ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคน