กลุ่มเป้าหมายชัด! เวิร์กพ้อยท์ ช่อง 8 Mono29 ติดกลุ่มทีวีดิจิตอลเรตติ้งสูง
ดร.นที เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวีดีขึ้น เขย่าสัดส่วนช่องเดิมกับช่องใหม่ 62% ต่อ 38% เงินสะพัดทั้งระบบ 7.8 หมื่นล้าน ชี้ช่องที่มีเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายชัดเจน อย่างเวิร์กพ้อยท์ ช่อง 8 และ Mono29 มีเรตติ้งสูงขึ้นติด1 ใน 5
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดประชุมชี้แจง เรื่อง “ทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ในปี 2559” ณ ห้องประชุม การ์เด้นท์ 3-4 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวถึง “ทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปี 2559” ว่า ผลจากการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากระบบแอนาล็อกไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือดิจิตอลทีวี เริ่มมีจำนวนผู้ชม และเม็ดเงินในการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเม็ดเงินในอุตสาหกรรมระบบดิจิตอลทีวีมีการปรับตัวดีขึ้น
ข้อมูลสิ้นสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 พบว่า สัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ต่อนาทีจากทุกช่องทางการรับชม ระหว่างช่องรายการเดิม และช่องรายการใหม่ ขยับขึ้นเป็น 62% ต่อ 38% จากเดือน ธ.ค. 2557 อยู่ที่ 82% ต่อ 18% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ประชาชนหันมาสนใจรับชมรายการจากดิจิตอลทีวีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหลายช่องเริ่มปรับตัวหาจุดแข็งให้กับตัวเอง และให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของเนื้อหามากยิ่งขึ้น
พ.อ.ดร.นที กล่าวถึงช่องดิจิตอลทีวีที่ได้รับความนิยม เป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ ช่องเวิร์กพ้อยท์ ซึ่งเรตติ้งสามารถอยู่ในอันดับที่ 3 ได้ตั้งแต่ปลายปี 2557 ขณะที่ช่อง 8 และช่อง Mono29 ขึ้นมาติดอันดับ 4 และ 5 ได้ในช่วงต้นปี 2558 ถึงแม้ว่าช่อง3 และช่อง 7 จะเป็นสองช่องเดิมที่ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มว่าช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน กำลังมีเรตติ้งสูงขึ้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าในอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวีเนื้อหาคือปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
รองประธานกสทช. กล่าวอีกว่า ดิจิตอลทีวีช่วยให้อุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2558 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเม็ดเงินโฆษณามีการกระจายสู่ดิจิตอลทีวีจากที่เคยกระจุกตัวอยู่ 6 ช่องหลัก ซึ่งในปี 2558 มูลค่าโฆษณามีอัตราการเติบโต 144% คิดเป็นเงินจำนวน 20,930 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 8,584 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาใน 6 ช่องเดิมลดลงเหลือ 57,526 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 63,776 ล้านบาท และยังทำให้ภาพรวมการลงโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีปี 2558 สูงขึ้นถึง 78,456 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า 72,360 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 8.43%