อดีตรมช.ศธ.แนะ 2 มาตรการเร่งด่วนแก้เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา
ยูเนสโก เผยเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษากว่า 3 แสนคน ส่งผลเสียต่อจีดีพีปีละ 1-3% ด้านอดีต รมช.ศึกษาแนะ 2 มาตรการแก้ไข สร้างกองทุนอุดหนุนจากภาษีเพื่อเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี องค์การยูเนสโก ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมเรื่อง “นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแห่งเอเชีย” (Asia Education Summit: Flexible Learning Strategies for Out-of-School-Children) เดินหน้าโรดแม็พแห่งเอเชียพาเด็กนอกระบบ 18 ล้านคน คืนสู่ระบบการศึกษา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลายชาติ อาทิกลุ่มประเทศอาเซียน เนปาล อินเดีย อิหร่าน เป็นต้น
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ นวัตกรรมทางการเงินเพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาว่า เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งจากข้อมูลขององค์การยูเนสโก ในปี 2556 พบว่า มีเด็กไทยในวัยประถมศึกษาที่หลุดจากระบบการศึกษาถึงเกือบ 300,000 คน ส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1-3% ของจีดีพีในทุกปีและยังส่งผลสำคัญให้ประเทศไม่สามารถหลุดจากกับดักประเทศรายได้ขั้นกลางไปอีกอย่างน้อย 25-30 ปี
ดร.วรากรณ์ กล่าวถึง 2 มาตรการเร่งด่วนเพื่อยับยั้งและแก้ไขความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ โดยมาตรการแรก ต้องเร่งการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อติดตามเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคลแบบ Real-time เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณและการวางมาตรการที่มีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
"ปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก่เด็กเยาวชนด้อยโอกาส ส่วนใหญ่ไปไม่ถึงตัวเด็กเยาวชนที่ยากจนอย่างแท้จริง และยังพบว่า จังหวัดที่ยากจนได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ มากกว่า 2 เท่า”
ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า มาตราการที่สอง ต้องมีนวัตกรรมการคลังเพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้วยการตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาด้วยภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
"การมีวินัยการคลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายที่ไม่ให้มีการทุจริตคดโกงหรือการใช้วิจารณญาณที่ไม่เข้าข่ายในการตัดสิน แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของประเทศชาติที่จะเกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง”
ด้าน ดร.นิโคลัส เบอร์เนตต์ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อดีตผู้บริหารระดับสูงของยูเนสโกและธนาคารโลก กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมีการจัดทำนวัตกรรมทางการเงินเพื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาว่า เนื่องจากปี 2007-2013 อัตราการลดจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนอยู่ในระดับคงที่เกือบทศวรรษติดต่อกัน ทำให้เด็กจำนวนกว่า 124 ล้านคน ยังประสบปัญหาที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น ความยากจน ความพิการ ความห่างไกล เป็นต้น หากเด็กกลุ่มดังกล่าวมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นก็จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมา พบว่าประเทศในภูมิภาคนี้มีค่าการสูญเสียอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยราว 1-4%
"ในขณะที่หากรัฐบาลแต่ละประเทศใส่ใจและต้องการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังนั้นจะเป็นการลงทุนเพียงนิดเดียวหรืออยู่ที่ 0.1% ของจีดีพี แต่ผลลัพธ์ที่จะได้กลับมากว่า 0.6-0.7% และหากย้อนไปดูกรณีศึกษาในประเทศโคลัมเบียปี 2015 พบว่า หากดึงเด็กกลุ่มนี้คืนสู่ระบบเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ 1) อัตราการเกิดลงลด 2.5% 2) อัตราการเสียชีวิตในทารกลดลง 27% 3) อัตราความยากจนเฉลี่ยต่อคนลดลง 11% และ 4) อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลง 25%”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ในครั้งนี้จะสิ้นสุดในวันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปเป็นโรดแม๊พในการเดินหน้าขับเคลื่อน เพื่อดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมา พร้อมทั้งสร้างให้เกิดเป็นแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อไป